ในปัจจุบันเทคโนโลยีโทรคมนาคม มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียน และนักศึกษามีความสนใจทางด้านเทคโนโลยีในหลากหลายสาขา รวมถึงเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม ซึ่งทั้งหมดนี้ จะก่อให้เกิดการสร้างความสนใจในเทคโนโลยีโทรคมนาคมเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สายงานอาชีพด้านโทรคมนาคมในอนาคตต่อไป
อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม ยังเป็นไปด้วยความจำกัด เนื่องจากยังขาดแคลนเครื่องมือในการสอนทางด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมโทรคมนาคม เนื่องจากเครื่องมือวัดทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมมีมูลค่าสูง และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมในโรงเรียนทั่วประเทศ หรือ WiFinder จึงเป็นโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโทรคมนาคมในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศีกษา และการศึกษานอกโรงเรียน ดำเนินโครงการโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
อาจารย์วัชระ อมศิริ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมโทรคมนาคม จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่เหมาะสม โดยเฉพาะในนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ควรได้รับการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และการสร้างความสนใจทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้พัฒนาเครื่องมือค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณไวไฟ โดยผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจในทฤษฎีทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมได้อย่างหลากหลาย เช่น เครื่องส่งวิทยุคมนาคม เครื่องรับวิทยุคมนาคม สายอากาศ รูปแบบการแพร่กระจายคลื่น เป็นต้น เหมาะสมสำหรับเป็นเครื่องมือช่วยสอนทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมในโรงเรียน
โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านสายอากาศโทรคมนาคมในโรงเรียน จึงได้สร้างโอกาสและส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมในโรงเรียน ด้วยเครื่องมือค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ โดยจัดการฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ ในการสอนทางด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมโทรคมนาคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุดเครื่องมือ เครื่องมือค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ จำนวน 500 ชุด ให้กับสถานศึกษานำร่องจำนวน 200 โรงเรียนทั่วประเทศ และจัดการแข่งขันการค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณในสถานการณ์ฉุกเฉินจำลอง เพื่อเป็นการสร้างความสนใจทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมให้กับนักเรียนด้วย
สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ WiFinder จะได้รับสิทธิ์ในการส่ง ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และ นักเรียนแกนนำ เข้าร่วมอบรมเพื่อสร้างอุปกรณ์ค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ Wi-Fi และเสริมสร้างความเข้าใจทางด้านโทรคมนาคมที่จำเป็น เช่น ทฤษฎีคลื่น ทฤษฎีสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ทฤษฎีสายนำสัญญาณ ทฤษฎีสายอากาศ ทฤษฎีเครื่องรับส่งวิทยุ และ อื่นๆ เพื่อให้มีความเข้าใจทั้งในการนำไปใช้ และ การสร้างอุปกรณ์ขึ้นใช้งานเองภายในสถานศึกษา โดยโครงการฯ สนับสนุนอุปกรณ์ และ ส่งมอบอุปกรณ์ค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ ให้กับสถานศึกษาเพื่อนำกลับไปใช้
สถาบันการศึกษา และผู้ที่มีความสนใจในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมในโรงเรียนทั่วประเทศ สามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านทาง https://www.wifinder.in.th และ เฟสบุ๊ค แฟนเพจ WiFinder ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม
Recent Comments