ไทยฮอนด้า ผนึกพลังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) และภาคีต่าง ๆ ร่วมปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้คนไทยหันมาสวมใส่หมวกกันน็อกจนเป็นนิสัย เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้กลายเป็นศูนย์ ภายใต้โครงการสังคมหัวแข็งเป็นปีที่ 7 “ครู สร้าง ได้”

ดร.อารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า “เด็กไทย นั้นคือ หัวใจสำคัญและจะกลายเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคต ไทยฮอนด้าจึงมุ่งมั่นเอาใจใส่ ปกป้อง และให้การดูแลที่เหมาะสมอย่างรอบด้านและหลากหลาย โดยมุ่งเน้นไปที่ความรู้และความเข้าใจถึงความปลอดภัยในการสวมใส่หมวกกันน็อก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อก้าวไปสู่การมีพฤติกรรมขับขี่ที่ดีและปลอดภัย”

“โดยเล็งเห็นว่าครูและโรงเรียนนั้นคือกลไกสำคัญที่จะช่วยนำแนวคิด พร้อมขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไปสู่เด็ก เยาวชน รวมถึงคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจัดทำโครงการและกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างวินัยในการสวมใส่หมวกกันน็อก เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยผ่านแนวคิดและหลักปฏิบัติ “พร้อม 3 ทำ 10” หมายถึง โรงเรียนมีความพร้อมใน 3 ด้าน และลงมือทำใน 10 สิ่ง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้เริ่มต้นใช้ไปในปีการศึกษา 2564 พบว่ากว่า โรงเรียนที่เขาร่วมโครงการตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ให้ความร่วมมือดีมาก มีสถิติการสวมหมวกกันน็อกเพิ่มมากขึ้นทุกปี

โดยในปี 2563 เพิ่มขึ้น 76.29% (ข้อมูลจาก 43 โรงเรียนใน 4 จังหวัด) แลในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 86.84% (ข้อมูลจาก 120 โรงเรียน ใน 4 จังหวัด และโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์) ส่งผลให้โครงการสังคมหัวแข็ง ปีที่ 7 นี้ ได้รับความสนใจจากสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศมากถึง 260 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลสำเร็จที่เราได้ตั้งใจและเป็นแรงผลักดันให้ไทยฮอนด้ามุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรมกรขับขี่ที่ดีและปลอดภัยต่อไปในสังคมไทย”

ด้าน นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สพฐ. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยสถานศึกษา ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มอบหมายให้ส่วนราชการในสังกัดขับเคลื่อนความปลอดภัยสถานศึกษาในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาแนวทางทำอย่างไรให้สถานศึกษาเป็นมากกว่าสถานที่ให้ความรู้ แต่ยังต้องเป็นสถานที่ที่อยู่แล้วมีความสุขและมีความปลอดภัยด้วย ซึ่งหลังจากที่คุณครูได้เข้าร่วมโครงการสังคมหัวแข็ง และทำความเข้าใจแนวคิด “พร้อม 3 ทำ 10” จนนำไปสู่การต่อยอดโครงการสังคมหัวแข็ง ที่เปิดกว้างให้แต่ละโรงเรียน แก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาให้ตรงกับแต่ละพื้นที่ ทั้งการผสานเข้ากับองค์ความรู้ในรายวิชาต่าง ๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ และส่งเสริมให้ลูกหลานได้เข้าใจ เห็นถึงความสำคัญในการสวมใส่หมวกกันน็อกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีนี้เราได้ขยายโอกาสไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งนำจุดแข็งในปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการสร้างกลุ่มคุณครูขึ้นมา โดยเชิญคุณครูที่เคยประสบความสำเร็จเข้ามาเป็นผู้ช่วยคอยถ่ายทอดมุมมองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการอย่างเป็นรูปธรรม และทำได้จริง วัดผลได้จริง โดยตลอดระยะเวลาของการทำโครงการ สพฐ. และ ไทยฮอนด้า มีการติดตามและประเมินผล อย่างต่อเนื่องเพื่อให้โรงเรียนได้รับการสนับสนุนกิจกรรมรายปีการศึกษา โดยเริ่มต้นในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป”

โดยในปี 2566 นี้เพื่อเป็นการขยายฐานความรู้ให้คุณครูทั่วประเทศได้ครอบคลุมขึ้น กิจกรรมการอบรมครูในปีนี้ เราจึงจัดกิจกรรมควบคู่ไปพร้อมกัน ทั้ง On Ground และ On line นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์ ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นที่ปรึกษาคุณครูตลอดโครงการ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/thaihondahelmetproject

ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรม

“พร้อม 3 ทำ 10” คือโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความพร้อมใน 3 ด้านและลงมือทำใน 10 สิ่งเพื่อเป็นโรงเรียนหัวแข็งเหรียญทอง ประจำปีการศึกษา 2565

“พร้อม 3” ประกอบด้วย

1.ผู้นำพร้อม – แต่งตั้งให้มี “ผู้นำ” และ “ทีมงาน” ในการดำเนินโครงการ เช่น ชมรม สมาคมโดยระบุรายละเอียดของผู้นำ เช่น ชื่อชมรม หรือกลุ่มกิจกรรม พร้อมแนบรายชื่อครู-อาจารย์ อย่างน้อย 1 ท่าน และนักเรียนผู้รับผิดชอบอย่างน้อย 3 คน

2.ความรู้พร้อม – จัดทำแบบสอบถามผู้ใช้รถจักรยานยนต์ภายในโรงเรียน และทำแบบประเมิน โรงเรียนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาหลักของโรงเรียน ใน 6 หัวข้อ ได้แก่

2.1 นักเรียนภายในโรงเรียนไม่เห็นความสำคัญของการสวมใส่หมวกกันน็อกใช่หรือไม่

2.2 โรงเรียนของท่านขาดผู้นำในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์ในโรงเรียน หรือชุมชน ใช่หรือไม่

2.3 นักเรียนภายในโรงเรียนของท่านประสพปัญหาขาดทุนทรัพย์ในการจัดซื้อหมวกกันน็อกใช่หรือไม่

2.4 บุคลากร และนักเรียนภายในโรงเรียนของท่านขาดองค์ความรู้ในการสวมใส่หมวกกันน็อกอย่างถูกวิธีใช่หรือไม่

2.5 โรงเรียนของท่านขาดที่เก็บหมวกกันน็อก ทำให้หายบ่อยใช่หรือไม่

2.6 นักเรียนภายในโรงเรียนของท่านมักมีการหลงลืมที่จะสวมใส่หมวกกันน็อกใช่หรือไม่

3. เตรียมพร้อม – นำเสนอแนวคิด หรือร่างกิจกรรมตามข้อกำหนดทั้ง 10 ข้อ ประกอบการ พิจารณา ผ่านการเอกสาร หรือ โทรอธิบาย หรือ Online Meeting ตามความเหมาะสม

“ทำ 10” ประกอบด้วย

โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนหัวแข็ง “ครู สร้าง ได้”ปีการศึกษา 2565 จะต้องลงมือทำใน 10 สิ่งเพื่อตามข้อกำหนดดังนี้

1. ออกแบบสื่อ และสร้างบรรยากาศในโรงเรียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม โดยประกอบด้วย

• สื่อประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ภายในโรงเรียน หน้าโรงเรียน

• สื่อที่ส่งถึงส่งถึงผู้ปกครอง และคนในชุมชน เช่น แผ่นพับ ใบปลิว สติ๊กเกอร์ติดเตือน

• สื่อออนไลน์ เช่น Facebook / Line

2. จัดประกวด หรือแต่งตั้งให้มีคำขวัญรณรงค์การสวมหมวกกันน็อกประจำโรงเรียน

3. ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อให้ความรู้เรื่องการขับขี่ปลอดภัย และสอนการสวมหมวกกันน็อกที่ถูกต้องให้กับ

นักเรียนทุกระดับชั้น ผ่านศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยจากฮอนด้า ในพื้นที่

• จัดนักเรียนเข้าร่วมฝึกอบรม กับ ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยจากฮอนด้า

• จัดนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบ ทางออนไลน์ ผ่านทาง https://www.hondasafetyapt.com

4. ออกแบบกิจกรรมพิเศษเพื่อให้มอบรางวัลให้กับผู้ที่สวมใส่หมวกกันน็อกอย่างสม่ำเสมอ และสร้างบทลงโทษที่ เหมาะสมสำหรับนักเรียนที่ไม่สวมหมวกกันน็อกตามข้อกำหนด

5. จัดให้มีการบันทึกสถิติ ผู้ใส่หมวกกันน็อก ภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดกิจกรรมพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการเข้าเก็บสถิติ

6. จัดกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนเพื่อรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือในวงกว้าง ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้าง MOU ร่วมกัน,กิจกรรมรณรงค์ในชุมชน,กิจกรรม Online เป็นต้น

• เข้าร่วมกิจกรรมกับทางสถานีตำรวจในพื้นที่ หรือ เชิญตำรวจในพื้นที่มามีส่วนร่วมกับทางโรงเรียน

• เข้าร่วมกิจกรรม กับทาง อบต หรือ สำนักงานเขต หรือ ชุมชน

• จัดกิจกรรม ให้โรงเรียนข้างเคียง หรือโรงเรียนอื่นๆ มีส่วนร่วมกับกิจกรรม รณรงค์ ของทางโรงเรียน

7. เชิญชวนนักเรียนให้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมพิเศษ ของสังคมหัวแข็ง ผ่าน Facebook Fan page : สังคมหัวแข็ง หรือ กิจกรรมที่จัดสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ

8. นำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม (สื่อการสอน Honda) และ ชมรมสังคมหัวแข็ง ไปให้ความรู้และสามารถบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้หมวกกันน็อกเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน

9. จัดกิจกรรมในรูปแบบการทำธนาคารหมวกกันน็อกร่วมกับผู้แทนจำหน่ายของ Honda เพื่อสร้างโอกาสในการมีหมวกกันน็อกสวมใส่ในกลุ่มนักเรียนที่ขาดแคลน

10. จัดกิจกรรมร่วมกับศูนย์จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในพื้นที่ หรือ ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า (ถ้ามี)