ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ปีการศึกษา 2565 ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว MDCU Change for the Better “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567)” หลักสูตรฉบับภาษาไทยสำหรับนิสิตที่จะเข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป
โดยในหลักสูตรนี้มีการปรับปรุงพัฒนาในหลายด้าน และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง คือ การปรับเปลี่ยนการแสดงผลการประเมินนิสิตในแต่ละรายวิชาเป็น S/U (Satisfactory/Unsatisfactory) ตลอดหลักสูตร แทนการแสดงผลการประเมินแบบดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ A-F
จุฬาฯ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เน้นการสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้เรียน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรและการประเมินผลของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้นำด้านการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยการตัดสินผลการศึกษาในลักษณะนี้จะเป็นการเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่ผู้เรียน ในขณะที่ยังคงยึดมั่นในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้คู่คุณธรรมตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร ทั้งนี้ คณะอื่น ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กำลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการประเมินผลในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของประเทศมาโดยตลอด ได้แก่
• พ.ศ. 2521 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท (MESRAP)
• พ.ศ. 2531 หลักสูตรแพทย์แนวใหม่ (New Track) ซึ่งรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต
• พ.ศ. 2545 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่จัดการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome-based curriculum) หลักสูตรแรกของประเทศไทย
• พ.ศ. 2560 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่มีสัดส่วนวิชาเลือกมากถึง 32 หน่วยกิต และเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถศึกษาจบการศึกษาสองปริญญาภายใน 6 ปี
• พ.ศ. 2564 หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ; CU-MEDi) แบบ 4 ปี
การเปลี่ยนแปลงในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567) ในครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านแพทยศาสตรศึกษาของคณะที่ก้าวไปสู่มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับสากลเช่นเดียวกับโรงเรียนแพทย์ชั้นนำต่าง ๆ ของโลก
การประเมินผลแบบใหม่ สร้างแรงจูงใจจากภายใน หัวใจสำคัญเรียนรู้ตลอดชีวิต
รศ.นพ.ศักนัน มะโนทัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้รายละเอียดสำคัญของการพัฒนาระบบการประเมินผลแบบใหม่ในหลักสูตร ดังนี้
1. การประเมินผลในรายวิชาต่าง ๆ ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จะแสดงผลการประเมินเป็น “ผ่าน/ตก” หรือ “S/U (Satisfactory/Unsatisfactory)” ตลอดหลักสูตร แทนการแสดงผลการประเมินแบบดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์ A-F
มีงานวิจัยที่แสดงว่า การตัดสินผลการศึกษาในลักษณะนี้ (non-tiered grading system) จะช่วยลดระดับความเครียดของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น และสร้างเสริมสุขภาวะของผู้เรียน ในขณะที่ผลการสอบและพฤติกรรมในการเรียนการปฏิบัติงานไม่ได้ลดลง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้จากภายใน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) อีกด้วย
จากสถิติของโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า สัดส่วนของโรงเรียนแพทย์ที่ใช้ letter grade (A-F) มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ โดยในปีการศึกษา 2021/2022 มีโรงเรียนแพทย์ที่ใช้การตัดเกรดลักษณะนี้ไม่ถึง 15% ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด
2. การปรับเปลี่ยนการแสดงผลการตัดสินการศึกษาในครั้งนี้เป็นการ “ต่อยอด” การพัฒนาด้านการประเมินผลผู้เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี โดยมุ่งเน้นการประเมินผลที่เป็นระบบ (systematic) สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน (assessment for learning) และทำให้มั่นใจว่าบัณฑิตแพทย์ในหลักสูตรจะบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (Programme Learning Outcomes; PLOs) ทุก PLOs ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565
3. การปรับเปลี่ยนระบบการประเมินผลในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างสมดุลใหม่ระหว่าง “การสร้างแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมให้สังคมไว้วางใจ (Trust)” กับ “การดูแลสุขภาวะของนิสิต (Well-being)” โดยการวางระบบเพื่อสนับสนุนให้นิสิตคุ้นเคยกับการเรียนรู้จากแรงจูงใจภายในจะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างเสริมให้นิสิตเติบโตและพัฒนาเป็นแพทย์ในแบบของตนเอง
4. ในหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567 นี้ นิสิตจะได้รับรายงานผลการศึกษาโดยละเอียด เพื่อที่นิสิตจะสามารถนำข้อมูลนั้นไปปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาด้านวิชาการและวางแผนพัฒนาตนเองต่อไป ทั้งนี้การให้ข้อมูลป้อนกลับที่สร้างสรรค์ จำเพาะ และทันท่วงที เป็นสิ่งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญ และได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) แก่นิสิตมาอย่างต่อเนื่อง
5. นิสิตจะได้รับสัญลักษณ์ S เมื่อนิสิตผ่านการประเมินระดับรายวิชาได้อย่างครบถ้วน โดยคณะจะจัดให้มีการสอบซ้ำ (remedial exam) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะฯ กำหนด
6. ในด้านของข้อมูลผลการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ (เช่น การฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เชิญอาจารย์ผู้ดูแลการคัดเลือกแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาวิชามาประชุมร่วมกัน ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางที่คณะฯ นำเสนอในการจัดทำระเบียนประวัติเพื่อแสดงถึง “ความเป็นแพทย์ในแบบของตนเองของนิสิตแต่ละคน” โดยในระเบียนประวัตินี้จะให้ข้อมูลวิชาที่นิสิตเลือกเรียน รางวัล ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนิสิต ประวัติการทำกิจกรรมที่โดดเด่น และ “ความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence)”
7. “ความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence)” เป็นการประมวลข้อมูลจากผลลัพธ์การเรียนรู้ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567) 12 ประการ เป็น 3 ด้าน ได้แก่
• ความเป็นเลิศด้านวิชาการ (academic)
• ความเป็นเลิศด้านสมรรถนะและการปฏิบัติงาน (competency and performance) ได้แก่ การสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการทำหัตถการ เป็นต้น
• ความเป็นเลิศด้านความเป็นวิชาชีพ (professionalism) ได้แก่ พฤตินิสัยในการเรียนการปฏิบัติงานการเรียนและการทำงานเป็นทีม และการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
การกำหนดความเป็นเลิศทางการศึกษา (Excellence) เป็น 3 ด้านนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาบัณฑิตแพทย์จุฬาฯ ไม่เฉพาะแต่ในด้านความรู้เท่านั้น แต่รวมถึงทักษะและพฤตินิสัยที่เหมาะสมสำหรับความเป็นแพทย์ด้วย
8. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตระหนักถึงความคาดหวังของนิสิตและผู้ปกครองในช่วงเปลี่ยนผ่านของแนวคิด คณะจึงยังคงไว้ซึ่งการให้ปริญญาเกียรตินิยม โดยจะพิจารณาจาก
• ความเป็นเลิศ (Excellence) ในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้
• ระยะเวลาการศึกษา
• การไม่เคยได้รับสัญลักษณ์ U
• การไม่เคยถูกตัดคะแนนความประพฤติ และไม่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์
นิสิตมีส่วนร่วม ได้รับรางวัล ASPIRE-to-Excellence Award in Student Engagement แห่งแรกในไทย
นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ อดีตนายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประจำปีการศึกษา 2565 กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของนิสิต (Student Engagement) ในการจัดการศึกษาตลอดมา การดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ส่งผลให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล ASPIRE-to-Excellence Award in Student Engagement เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2558 รางวัลนี้เป็นรางวัลระดับนานาชาติที่แสดงถึงความเป็นเลิศในการจัดการศึกษาสำหรับแพทย์และการให้ความสำคัญแก่ผู้เรียน
นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ ยังกล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตนเอง เพื่อนนิสิต และรุ่นพี่รุ่นน้องได้รับการแต่งตั้งจากท่านคณบดีให้ไปเป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการบริหารหลักสูตร และได้ร่วมกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิสิต ร่วมขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน รวมถึงร่วมประเมินหลักสูตรปัจจุบัน และออกแบบหลักสูตรใหม่ โดยในการพัฒนาหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ นิสิตแพทย์จุฬาฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมกับคณาจารย์ ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร ได้ทบทวนวรรณกรรมและเก็บข้อมูลจากคณาจารย์ นิสิต และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนร่วมเสวนาและประชาพิจารณ์ร่างหลักสูตรและร่างระบบการประเมินผล
โดยในหลักสูตรใหม่นี้จะประกอบไปด้วย
• จุดเด่นจากหลักสูตรเดิม (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) ที่มุ่งเน้นพัฒนาให้นิสิตเป็นแพทย์ในแบบของตนเอง สามารถเรียนควบข้ามระดับข้ามศาสตร์และจบการศึกษาสองปริญญา (Dual Degree) ภายใน 6 ปี โดยมีวิชาเลือกในหลักสูตรมาถึง 32 หน่วยกิต
• การพัฒนาต่อยอดจากข้อมูลป้อนกลับ (feedback) จากนิสิต โดยปรับปรุงแผนการศึกษาและกระชับเนื้อหาให้นิสิตสามารถเรียนอย่างมีสุขภาวะมากขึ้น นิสิตได้เรียนรู้เนื้อหาทางการแพทย์และสัมผัสประสบการณ์ของความเป็นแพทย์ในปีแรก ๆ ของหลักสูตรมากขึ้น และมีโอกาสเรียนรู้จากผู้ป่วยมากขึ้น
นสพ.รหัท หลงสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การได้เห็นหลักสูตรใหม่และระบบการประเมินผลใหม่ ซึ่งเป็นผลงานที่นิสิตร่วมแรงร่วมใจกับคณาจารย์ตั้งแต่เริ่มต้นในวันนี้ เป็นสิ่งที่นิสิตยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
หากนักเรียนหรือผู้ปกครองมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ทางไลน์ @mdcu
Recent Comments