สภาผู้บริโภคจับมือองค์กรของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม เปิดเวที “สานพลังอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์” ถกหาแนวทางความร่วมมือระดับชาติปิดจุดเสี่ยงและป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ เผยตัวเลขคนไทยถูกหลอกซื้อ-ขายสินค้าบริการไม่ตรงปก สูญกว่า 6.9 ล้านบาท ขณะที่อินโดนีเซีย พบข้อมูลประชากรรั่วไหล-ใช้เอไอสร้างข่าวปลอมป่วนเลือกตั้ง
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลดีต่อมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของไทย โดยล่าสุดในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2565 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่มีมูลค่า 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดเวียดนามมีมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีมูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ และคาดว่าปี 2568 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีเอไอในเศรษฐกิจดิจิทัล ก็ได้สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลกรวมทั้งไทย จากปัญหาการหลอกลวง การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการใช้อำนาจผูกขาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2565 – 31 ก.ค. 2567) พบว่าผู้บริโภคไทยได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์สูงถึง 612,603 เรื่อง เสียหายรวม 69,186 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละกว่า 78 ล้านบาท โดยการร้องเรียนกรณีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการไม่เป็นขบวนการคือปัญหาใหญ่ที่สุดจำนวน 296,042 เรื่อง หรือมีสัดส่วน 44.08% ของข้อร้องเรียนทั้งหมด มูลค่าความเสียหาย 4,311 ล้านบาท รองลงมาคือกรณีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 82,162 เรื่อง สัดส่วน 13.46% ความเสียหาย 10,177 ล้านบาท หลอกให้กู้ยืมเงิน 63,878 เรื่อง สัดส่วน 10.47% ความเสียหาย 3,103 ล้านบาท หลอกให้ลงทุนผ่าระบบคอมพิวเตอร์ 45,787 เรื่อง สัดส่วน 7.50% แต่มีความเสียหายมากถึง 25,315 ล้านบาท และ การข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือคอลเซ็นเตอร์ 42,404 เรื่อง สัดส่วน 6.95% มีมูลค่าความเสียหาย 9,392 ล้านบาท
นอกจากนั้นพบการร้องเรียนผ่านสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จำนวน 11,629 เรื่อง สูงสุดคือปัญหาการซื้อขาย 5,300 เรื่อง คิดเป็น 45.7% ของข้อร้องเรียนทั้งหมด ถัดมาคือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บพนัน 4,100 เรื่อง สัดส่วน 35.4% และปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาการหลอกลวงลงทุน หลอกให้ทำงานออนไลน์ ปัญหาข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 2,200 เรื่อง หรือ 19% ในขณะที่สภาผู้บริโภค พบสถิติร้องเรียนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 สูงถึง 1,386 กรณี สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย และตอกย้ำความเดือดร้อนจากภัยไซบอร์ที่ทุกภาคส่วนต้องรีบกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภคได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภคอินโดนีเซีย (YLKI) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (FOMCA) รวมทั้งองค์กรของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ได้แก่ กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไทย จัดเวทีการประชุมใน “โครงการสานพลังอาเซียนบวกสามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” ระดับภูมิภาคครั้งแรก ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2567 เพื่อหารือประเด็นปัญหาความท้าทาย และติดตามข้อมูลใหม่ๆ รวมถึงหาความร่วมมือใหม่ในอาเซียนบวกสาม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทางไซเบอร์แบบองค์รวม โดยเฉพาะการก่ออาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพังประเทศใดประเทศหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคไทยและอาเซียน มีการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งต่อการป้องกันและการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ในหลายระดับ ทั้งในระดับรัฐมนตรี เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งมีความร่วมมือในระดับพหุภาคี เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย เป็นต้น ตลอดจนการจัดทำตราสารอาเซียน เช่น ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นต้น
นางสาวอันจานี่ วิดยา (Ms. Andjani Widya) นักการศึกษา มูลนิธิผู้บริโภคแห่งอินโดนีเซีย (YLKI) กล่าวว่า YLKI เป็นองค์กรผู้บริโภคในอินโดนีเซียที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและเอไอ พร้อมทั้งสนับสนุนมุ่งเน้นไปที่การรับรองให้ผู้บริโภคได้รับการปกป้อง ได้รับข้อมูล และมีอำนาจในการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และมาพร้อมแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการละเมิดข้อมูล การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์และการหลอกลวง โดยตัวอย่างเหตุการณ์ในอินโดนีเซียเมื่อเดือนพ.ค. 2565 ได้เกิดการละเมิดข้อมูลครั้งใหญ่กับหน่วยงานบริหารประกันสุขภาพ ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองอินโดนีเซียหลายล้านคน ถูกเปิดเผยและขายในเว็บมืด และพบการใช้ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมที่สร้างโดยเอไอก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2567
ในขณะที่ปัจจุบัน อินโดนีเซียไม่มีกฎระเบียบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แต่ YLKI ก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิของตนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังร่วมมือกับผู้กำหนดนโยบายด้านนี้เพื่อพัฒนากฎระเบียบที่ปกป้องสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือที่เข้มแข็งกับนานาประเทศ ซึ่งการประชุมโครงการสานพลังอาเซียนบวกสามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ครั้งนี้ก็เป็นอีกเวทีหนึ่งในการพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในอินโดนีเซีย
Recent Comments