หลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ เริ่มพูดถึงปัญหาที่เกิดจากการท่องเที่ยวซึ่งกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากขึ้น อาทิ การรับมือกับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะถึงแม้จะนำรายได้และโอกาสในการจ้างงานมาอย่างมหาศาลแล้ว ก็อาจสร้างความเสียหายต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงก่อให้เกิดสิ่งรบกวนที่กระทบกับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ สถานที่ ที่มีปริมาณผู้คนหนาแน่นเกินไป กำลังใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมผลกระทบเชิงลบต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากในหลายสถานที่เกิดความเสียหายขั้นวิกฤตจนแทบฟื้นฟูไม่ได้ ซึ่งเมื่อสถานที่เหล่านั้นเสื่อมโทรมลง และสูญเสียระบบนิเวศอันบริสุทธิ์อันเป็นสิ่งดึงดูดนักเดินทางในเบื้องต้น ก็คงทำให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมา เนื่องจากหันเหเดินทางไปยังสถานที่อื่น ๆ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลและประชาชนประเทศภูฏานมาตั้งแต่ปี 2516 เพื่อช่วยเร่งการพัฒนาของประเทศผ่านเครื่องมือหลายอย่าง อาทิ นวัตกรรมร่วมสมัย การใช้ระบบดิจิทัลเพื่อการจัดการ การจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา การสร้างความร่วมมือ การเพิ่มความรู้ระดับโลกล้ำสมัย และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรใน 170 ประเทศ มีเป้าหมายสร้างทางออกแบบบูรณาการและยั่งยืนสำหรับราชอาณาจักรบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ โครงการริเริ่มโดย UNDP นี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของประเทศต่อภูฏาน และสามารถปกป้องระบบนิเวศอันบอบบางของประเทศได้อีกด้วย

ประเทศภูฏานเริ่มเปิดประตูเพื่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2517 พร้อมนโยบายการท่องเที่ยวระดับชาติแบบ “มูลค่าสูง แต่ปริมาณต่ำ” เพราะให้ความสำคัญกับการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปีแรกมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาภูฏานรวม 287 คน จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน เช่นเดียวกันกับการลงทุนด้านโรงแรม และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปีที่ผ่านมา ประเทศภูฏานต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 103,000 คน ซึ่งเกินเป้าหมายจากที่วางเอาไว้ อีกทั้งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ก็มีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีนักท่องเที่ยว 41,394 คนเดินทางมาที่ภูฏาน แม้ว่าจำนวนตัวเลขจะยังดูน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ประชากรของภูฏานมีอยู่เพียง 800,000 คน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง เว้นแต่เราจะควบคุมสถานการณ์นี้ได้

ในปี 2564 ประเทศภูฏานได้ร่วมกับ UNDP จัดทำโครงการระยะเวลา 5 ปี มุ่งเน้นเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะยาว และสร้างภูฏานให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต้นแบบ โดยโครงการมีมูลค่า 4.854 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และดำเนินการโดยกรมการท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการจ้างงานของภูฏาน

แม้ว่าประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศภูฏานมีอายุต่ำกว่า 25 ปี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวจำนวนมากได้อพยพไปยังเขตเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ขณะที่ชาวเมืองต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน การใช้สารเสพติด และอาชญากรรม พื้นที่เกษตรกรรมในชนบทจึงถูกทิ้งร้าง โดยในปี 2566 มีอัตราการว่างงานของเยาวชนในประเทศอยู่ที่ 15.9 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับเยาวชนในพื้นที่อนุรักษ์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานของเยาวชนด้วย

ทาชิ เทนซิน (Tashi Tenzin) ผู้จัดการโครงการประจำสำนักงานเลขานุการกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า กิจกรรมที่เน้นธรรมชาติระดับไฮเอนด์ มีศักยภาพที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้กลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง เช่น การตกปลาด้วยเหยื่อปลอม และการดูนก เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาโฮมสเตย์และโครงการต่าง ๆ ที่ดึงดูดชุมชนในท้องถิ่น และสามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขา การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มขึ้นในปีที่ 2 ของโครงการ และคาดว่าภายในปี 2569 เป็นปีสิ้นสุดระยะเวลาทั้งหมด ภูฏานจะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ป่า

ประเทศภูฏานเป็นสวรรค์สำหรับคนรักนกและนักดูนก โดย Bhutan Bird Festival จะจัดขึ้นในวันที่ 13 ถึง 15 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งในปี 2567 นับเป็นการจัดเทศกาลครั้งที่ 4 ใน เคยมีการสำรวจและบันทึกไว้ว่าภูฏานมีนกมากกว่า 700 สายพันธุ์ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของนกที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างน้อย 16 สายพันธุ์ รวมถึงนกกระสาจักรพรรดิ ซึ่งเป็น 1 ใน 50 นกที่หายากที่สุดของโลก และนกกระเรียนคอดำ ซึ่งหาดูได้ยากเช่นกัน ส่วนเส้นทางดูนกระดับไฮเอนด์ที่เชื่อมตั้งแต่เขต Latongla ผ่านเขต Yongkola จนถึงเขต Zhonggar ได้รับการพัฒนาพื้นที่สำหรับดูนก กางเต็นท์ และส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่น สำหรับสวนนิเวศแบบอีโคพาร์คที่เขต Richanglu ก็สร้างเสร็จแล้ว โดยมีลานและลู่ปั่นจักรยาน ซิปไลน์แห่งแรกของภูฏาน สนามเด็กเล่น ครัวเปิด พื้นที่กางเต็นท์ อ่างอาบน้ำหินร้อน ทางเดินลอยฟ้า สถานที่สำหรับก่อกองไฟ หลังคากันสาด และห้องน้ำ

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Bumdeling ในจังหวัด Trashiyangtse เป็นที่อยู่อาศัยของ ผีเสื้อภูฏาน (Ludlow’s Bhutan Glory) ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และเป็นผีเสื้อประจำชาติของภูฏาน เขตทางตะวันออกแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของนกอีกหลายชนิด เช่น นกขุนแผนหัวแดง (Ward’s Trogon) นกปากห่าง และไก่ฟ้า ปัจจุบันเส้นทางดูผีเสื้อภูฏานภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้สร้างเส้นทางเดินเชิงนิเวศจากเขต Tsharzam ไปที่ Old Dzong โดยได้สร้างหลังคากันสาด ห้องน้ำ และลานชมนก รวมถึงได้ริเริ่มโรงงานผลิตชาสมุนไพรที่เขต Bumdeling เพื่อช่วยสร้างงานให้กับชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

ชาวภูฏานเชื่อว่าการพบแพนด้าแดงในป่าจะนำโชคลาภมาให้ในการเดินทาง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้พบได้ที่เขตอบอุ่นของป่าหิมาลัยใน 17 จังหวัดของภูฏาน ภายใต้โครงการของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เส้นทางระหว่าง Jomo ถึง Panda จะทอดยาวไปตามแหล่งที่อยู่อาศัยของแพนด้าแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Sakteng ซึ่งภายในยังประกอบด้วยศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาสวนชุมชน Rhododendron

ลิงแสมสีทอง เป็นหนึ่งในวานรที่โดนคุกคามมากที่สุดของโลก โดยผู้เชี่ยวชาญได้คาดคะเนว่ามีอยู่ประมาณ 6,000 ตัวในภูฏาน กว่าครึ่งของประชากรลิงแสมในปัจจุบันได้รับการคุ้มครองอยู่ในอุทยานแห่ง Jigme Singye Wangchuck อุทยานแห่งชาติ Royal Manas และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Phibsoo โครงการนี้จะรวมการพัฒนาเส้นทางเดินลิงแสมสีทอง การสร้างโรงอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ Wangdigang Junction และการส่งเสริมที่พักแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้านที่ Buli

ทาชิ เทนซิน กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าประเทศภูฏานจะมีมาตรการที่ดีในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างโรงแรมอันทันสมัย ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเดินทางมายังราชอาณาจักรแห่งนี้เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ รวมถึงวัด และเทศกาลต่าง ๆ ของภูฏาน เป้าหมายหลักในปัจจุบันคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในชนบทโดยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นประสบการณ์ดูสัตว์ป่า สร้างโอกาสในการจ้างงาน และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างชุมชนกับธรรมชาติ ภาพรวมของผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศส่วนใหญ่ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึง ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการขาย การตลาด และมาตรฐานการบริการ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้การดำเนินโครงการในประเทศภูฏานที่ผลลัพธ์และความคืบหน้าที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก