นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอพี ไทยแลนด์ เปิดเผยว่า วันนี้ เอพี ไทยแลนด์ ก้าวสู่การดำเนินธุรกิจปีที่ 30 โดยมี EMPOWER LIVING เป็นเจตจำนงสำคัญในการดำรงอยู่ของเอพี ไทยแลนด์จากอดีต ปัจจุบัน และก้าวต่อๆ ไปในอนาคต ภายใต้บทบาทหน้าที่สำคัญยิ่งในการเป็นผู้สร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเอพี สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตที่ดี ในแบบที่ต้องการด้วยตนเอง (To create and provide the support that enables to live and enjoy life on their terms) และวันนี้วิสัยทัศน์ EMPOWER LIVING ได้กลายมาเป็นพื้นฐานสู่ความแข็งแกร่งของบริษัทฯ

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน และนายวิทการ จันทวิมล

โดยปี 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งบทพิสูจน์ความเป็นตัวจริงในอุตสาหกรรมอสังหาฯ โดยเอพีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงสุดเกินจากคาดการณ์ ทั้งในมิติรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 46,130 ล้านบาท เติบโตกว่า 42% จากปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 4,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 38% ด้านสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 0.71 เท่า ซึ่งทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการภายในองค์กร ควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินค้า และการบริหารกระแสเงินสดที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอพี ไทยแลนด์ กล่าวว่า “วิกฤตโควิด-19 เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของวิกฤตที่เกิดขึ้นและยังคงวนเวียนอยู่ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่จะสิ้นสุด หรือจะมีวิกฤตใหม่เกิดขึ้นอีกเมื่อใดและความเสียหายจะรุนแรงแค่ไหน โจทย์การดำเนินธุรกิจจึงท้าทายยิ่งขึ้น และนำไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ในการแข่งขัน โมเดลการทำธุรกิจแบบเดิมจึงไม่ใช่คำตอบของการอยู่รอดในอนาคต ซึ่งก้าวต่อไปจากนี้ เอพี ไทยแลนด์ จะไม่หยุดที่จะสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน เพื่อตั้งรับกับกฎกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย

โดยยุทธศาสตร์สำคัญทั้งสามประกอบไปด้วย

1. สร้างผู้นำอิสระ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันที่มากกว่า (CREATE INDEPENDENT RESPONSIBLE LEADERS) องค์กรจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูงยิ่งในสภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่มากขึ้น บริษัทฯ จึงให้เดินหน้าสร้างบทบาทของผู้นำในโลกยุคใหม่ ให้เป็น “ผู้นำที่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ” ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อตนเอง ลูกค้า คู่ค้า และเพื่อนร่วมงานดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ “ความต้องการของลูกค้า” มากกว่า “ข้อกำหนดของบริษัท” หรือ “ข้อจำกัดขององค์กร” ซึ่งเชื่อว่า การที่บริษัทฯ ให้อำนาจในการตัดสินใจอย่างอิสระแก่คนทำงานผู้ที่อยู่ใกล้ชิดลูกค้าโดยตรงแล้วนั้น จะทำให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพกว่าอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คนเพียงไม่กี่คนในองค์กร

2. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (INNOVATIVE CULTURE) การที่พนักงานเอพี ทุกคนจะสามารถสร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ผู้คนในสังคม สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการด้วยตนเองนั้น สมาชิกทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะทำหน้าที่ในบทบาทใด หรือรับผิดชอบเรื่องใด พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ผ่านการปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีระบบคิดตามหลัก DESIGN THINKING ที่ให้ความสำคัญกับการค้นหา Unmet Need ของลูกค้า ให้เกิดขึ้นกับพนักงานเอพีทุกคน เพื่อให้ทุกภาคส่วนงานใช้เป็นหลักคิดพื้นฐาน ผสานเข้ากับจุดแข็งของตนเองในการร่วมมือเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

วันนี้การสร้างนวัตกรรมจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การ “ฝันถึงสิ่งใหม่ ที่ยิ่งใหญ่” เท่านั้น แต่นวัตกรรมที่มีค่าที่สุด คือสิ่งที่สามารถตอบ Unmet Need หรือความต้องการที่ซ่อนอยู่ของลูกค้าได้เป็นสำคัญถึงจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

3. พลิกเกมส์ธุรกิจเดินหน้าเต็มลูป ทรานฟอร์มทุกมิติด้วยดิจิทัล (EVERYTHING DIGITAL) อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรคือ การนำทุกมิติของการดำเนินงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบองค์รวม (Holistic Digital Management) ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเอพี หรือ พนักงาน เพื่อเป็นรากฐานสนับสนุน 2 ยุทธศาสตร์ข้างต้น ทั้งนี้ การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ค้นหา Unmet Need ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เพื่อส่งมอบ ‘ประสบการณ์การใช้ชีวิต’ ผ่านสินค้าและบริการที่มีความสะดวกและรวดเร็วให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ 3 ยุทธศาสตร์ข้างต้น จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความพร้อมให้กับองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการขยายตัวเชิงรุกอย่างมาก โดยในปี 2564 นี้ เอพี ไทยแลนด์ จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาอยู่ทั่วประเทศมากถึง 147 โครงการ มูลค่าพร้อมขายกว่า 121,890 ล้านบาท โดยเป็นการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้จำนวน 34 โครงการ มูลค่าประมาณ 43,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นโครงการแนวราบจำนวน 30 โครงการ มูลค่าประมาณ 28,800 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะพร้อมเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังจำนวน 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 14,200 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างการขายที่กระจายไปในทุกทำเลทั้งในกทม.และต่างจังหวัดมากถึง 113 โครงการ มูลค่าสินค้าพร้อมขายประมาณ 78,890 ล้านบาท โดยในปี 2564 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารับรู้รายได้ (รวม 100% JV) 43,100 ล้านบาท และเป้ายอดขายที่ 35,500 ล้านบาท

“การมาของวัคซีนคือ ความหวัง แต่หนทางระหว่างเดินไปถึงแสงแห่งความหวังนั้น ยังอีกยาวไกล สิ่งที่เราทุกคนต้องระวังมากที่สุดตอนนี้คือ ‘Ripple Effect’ หรือปรากฏการณ์ระลอกคลื่น ที่ศูนย์กลางก็คือความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเวลาในการฟื้นตัวที่ต้องลากยาวออกไปอีกหลายปี การคาดการณ์เวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถือเป็นเพียงการฟื้นคืนกลับในเชิงตัวเลขเท่านั้น แต่ความน่ากลัวที่แฝงอยู่คือ วิธีการทุกอย่างที่เราเคยทำและเรียนรู้มาจะเปลี่ยนไป และจะยังคงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นแปลว่าจากวันนี้ไปอีกหลายปี เรายังคงต้องเผชิญอยู่กับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเปลี่ยนโลกรอบนี้ ซึ่งหากพนักงานเครือเอพี กว่า 2,000 คน สามารถดำเนินงานภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์นี้ได้อย่างเข้าใจ เอพีก็จะสามารถสร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ในแบบที่ต้องการด้วยตนเอง ตามเจตจำนง EMPOWER LIVING ที่ได้กำหนดไว้” นายอนุพงษ์ กล่าวเสริม

อนึ่งจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของนักวิเคราะห์* กล่าวถึงเอพีว่า “เอพี ไทยแลนด์ คือ ฮีโร่แม้ในยามวิกฤต” และเป็นผู้นำตลาดรายใหม่ ยอดขายและการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยเฉพาะยอดขายแนวราบที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และการโอนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จใหม่ โดยยกให้ “เอพี เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งท่ามกลางภาวะที่ยากลำบาก” [ที่มา: *MAYBANK KIM ENG RESEARCH ตุลาคม 2563]