กทม. ผนึก กสศ. และภาคีเครือข่าย “เดินหน้า Sandbox ป้องกันเด็ก กทม. หลุดจากระบบการศึกษา” นำร่องพื้นที่ตัวอย่างเขตสวนหลวงแห่งแรก ลงเยี่ยมบ้าน-ทำฐานข้อมูลเด็กร่วมกับครู ชุมชน เขตพื้นที่ ย้ำ! ความเหลื่อมล้ำต้องหยุดตั้งแต่วันนี้ ส่งสัญญาณเชิงรุก ทุกโรงเรียนร่วมค้นหาผ่านความร่วมมือทุกฝ่าย
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสวนหลวง นายสมพงษ์ ธนะสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) และคณะครู ผู้บริหารสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารเขตสวนหลวง ประธานชุมชน และภาคีเครือข่าย ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนในชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง เพื่อค้นหาเด็กยากจนพิเศษโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบคัดกรองของ กสศ. เพื่อรับเงินอุดหนุนหรือทุนเสมอภาค และทำให้ กทม. มีฐานข้อมูลเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์ต่อไป
นายศานนท์ กล่าวว่า ที่มาของการลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจาก กทม. ยังทำข้อมูลเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาได้น้อยมาก ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ไม่เฉพาะจากเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนประสบปัญหาไม่สามารถดึงเด็กทุกคนให้อยู่ในโรงเรียนได้ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปิดเทอมจึงมีความสำคัญมากซึ่งตนเห็นว่ามีจำนวนเด็กนักเรียนลดน้อยลง ซึ่งถ้ามีการสำรวจโดยละเอียดจริง ๆ คาดว่าจะมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วหลายพันคน จึงจำเป็นต้องค้นหาให้พบเพื่อตามกลับมา ส่วนที่ยังอยู่และมีความเสี่ยงก็ต้องหาให้เจอและรีบช่วยเหลือเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ทุนการศึกษาที่ได้รับอาจไม่มาก แต่ทุกบาททุกสตางค์มีความสำคัญมากกับชุมชน การมาลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้ทุกเขตเห็นความสำคัญว่าจะต้องเยี่ยมบ้าน จะต้องช่วยกันทำข้อมูล ซึ่งวันนี้เรามีทั้ง ผอ.เขต และ ผอ.โรงเรียนมาด้วย การทำข้อมูลแบบนี้คือวิธีการเดียวที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง และทุนเข้าถึงทุกคนจริง ๆ ต้องขอบคุณ กสศ. ที่เป็นเจ้าภาพในการมอบทุนนี้ และขอบคุณ ส.ก. ที่ทำงานหนัก เราเหลือเวลาอีกไม่เยอะ ขอให้ทุกเขตเร่งลงพื้นที่สำรวจเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามระยะเวลาที่กำหนดในเดือน ก.ย. นี้ เพราะข้อมูลจะไม่ใช่เพื่อในวันนี้เท่านั้น แต่จะเป็นฐานข้อมูลคนในชุมชนและเด็กที่มีความเสี่ยงเด็กหลุดนอกระบบที่นำไปใช้ต่อได้”
นายศานนท์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษาเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคต หากเด็กหลุดออกนอกระบบในวันนี้ อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ถ้าสังคมสามารถปิดหรือหยุดได้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมหายไปเร็วขึ้น ถ้าไม่เริ่มต้นก็จะช้าไปทุกวัน โดยในวันนี้ กทม. ได้ประชุม Teleconference ร่วมกับ 437 โรงเรียน และฝ่ายการศึกษาของเขตทั้ง 50 เขต เพื่อวางแผนเก็บข้อมูลนักเรียนลงระบบ กสศ. ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อนำไปขยายผลดำเนินการเรื่องอื่นเพิ่มเติมในอนาคตได้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมความเสมอภาคด้านการศึกษา ความร่วมมือสำคัญที่สุด เพราะหน่วยงานด้านการศึกษาอย่างเดียวไม่เพียงพอแก้ปัญหาโดยลำพัง หากได้ข้อมูลชุดนี้มาจะทำให้ กทม. มีข้อมูลระดับครัวเรือน ซึ่งข้อมูลจะเป็นมากกว่าแค่เรื่องการศึกษาโดยตรง แต่จะทราบได้ถึงชีวิตและความเป็นอยู่ด้วย เพื่อทำให้รู้ว่าจะต้องเพิ่มเติมอะไรต่อไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการศึกษา การส่งเสริมสุขภาพ หรือการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กยศ. เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาต่อเนื่องไปได้ ข้อมูลชุดนี้จะสะท้อนความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ กสศ. เองก็จะสามารถสนับสนุนทุนให้กับนักเรียน กทม. ได้ และในอนาคต หากมีการค้นเจอเพิ่มเติมก็จะสนับสนุนให้ได้มากที่สุด
“เราทราบดีว่าการลงพื้นที่สำรวจชุมชนในกรุงเทพฯ มีความลำบาก ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายพื้นที่มีความแออัด หรือเป็นพื้นที่ปิด เข้าไปได้ยาก การสำรวจของคุณครูหรือโรงเรียนเพื่อติดตามปัญหาจึงต้องการการสนับสนุนจากเขตหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำให้การเยี่ยมบ้านสามารถทำได้ ที่ผ่านมา กทม. อาจไม่เคยทำฐานข้อมูลแบบนี้ บวกเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดมานาน การมาลงพื้นที่ชุมชนโรงหวายวันนี้ จึงมาจากความตั้งใจว่า แม้จะเป็นชุมชนที่มีความซับซ้อนเข้าถึงยากซึ่งมีชุมชนลักษณะนี้เต็มไปหมด แต่ที่เขตสวนหลวงสามารถทำได้ โรงเรียนวัดใต้เริ่มแล้ว จึงอยากให้อีก 436 โรงเรียนที่เหลือเริ่มขยับลงพื้นที่ทำข้อมูลให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ครูคือพลังสำคัญในการค้นหาเพื่อให้ กสศ. สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ซึ่งตอนนี้เรามีแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถเยี่ยมบ้านแบบออนไลน์ได้ เพราะเข้าใจดีว่าบางพื้นที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่เราก็อยากให้มีการคัดกรองให้ได้มากที่สุด”
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่วันนี้ได้รับการสนับสนุนจากทาง กทม.,ผอ.เขต ,ส.ก. ชุมชน และทางโรงเรียนอย่างเต็มที่ เป็นการยืนยันว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะยาว ส่วนเหตุผลที่เลือกเขตสวนหลวงเป็นที่แรก เพราะจากที่ประชุมของ กทม. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ทาง ส.ก. ให้ความสำคัญมาก และเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนลักษณะเดียวกันกับชุมชนโรงหวายหลายแห่ง รอบ ๆ พื้นที่จะเห็นอาคารสูง มีคอนโดมิเนียมมากมาย แต่พอเข้ามาข้างในจะมีเมืองซ้อนเมือง ชุมชนซ้อนชุมชนอยู่ ประกอบกับผู้นำชุมชนและทางโรงเรียนพร้อมให้การสนับสนุน จึงมาลงพื้นที่ชุมชนโรงหวายพร้อมกันเป็นที่แรก
“ถ้าเราเริ่มต้นที่เขตสวนหลวงได้ก็จะเป็นต้นแบบให้เขตอื่น ๆ ที่เหลือ เพราะเราพบว่าหลายครั้งมีเด็กที่เรียนในโรงเรียนคร่อมเขตกัน ในหนึ่งชุมชนอาจมีเด็กเรียนหลายโรงเรียน เราจึงต้องการข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพตรงกันและบูรณาการได้ ข้อมูลชุดนี้นอกจาก กสศ. สามารถใช้ในการคัดกรองเพื่อจัดสรรทุนให้แล้ว ทาง กทม. ก็จะนำไปใช้เพื่อของบประมาณทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีได้ ซึ่งปัจจุบันทาง กทม. ยังไม่ได้รับการจัดสรรทุนนี้ ในขณะที่ สพฐ. และ อปท. ได้รับการจัดสรรแล้ว ดังนั้นหากมีข้อมูลนี้เด็กจะได้รับเงินจากทั้ง 2 ทาง จะได้รับทุนตั้งแต่ 1,000 – 6,000 บาท ขึ้นกับระดับการศึกษาและระดับความยากจน”
ขณะที่ นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่ไม่มีข้อมูลพื้นฐานนักเรียนยากจน เขตสวนหลวง มีโรงเรียนในสังกัด กทม. 8 โรงเรียน ซึ่งในการค้นหาเด็กที่มีความลำบาก ครูจะมีความใกล้ชิดและรู้ข้อมูลดีที่สุด ตนพร้อมสนับสนุนการไปในพื้นที่ต่าง ๆ สาเหตุตนที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะอยากให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากเชื่อว่า การศึกษาคือเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด จึงอยากให้ทุกเขตมาร่วมกันทำเรื่องนี้
ด้าน นายสมพงษ์ ธนะสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนฝันที่เป็นจริง แม้ว่าการติดตามสังเกตนักเรียนหรือการเยี่ยมบ้านเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนทำอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ในช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดระยะห่างขึ้น และที่ผ่านมาข้อมูลก็ไม่ได้มีการนำไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลใด เป็นการหาวิธีช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป ไม่มีกระบวนการส่งต่อหรือสามารถสนับสนุนทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้
“คงไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่บางทีเราก็ไม่มีเครื่องมือช่วย การเข้ามาของ กสศ. คือการมาพร้อมเครื่องมือ มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีความช่วยเหลือมาให้ ผมเชื่อว่าจะช่วยเด็กได้อีกมาก เราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แต่หากมีโอกาส บางทีสักคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือในวันนี้ อาจเป็นหมอ เป็นพยาบาลที่จะมาช่วยชีวิตเราในอนาคตก็ได้”
สำหรับการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา จะมีวิธีการจากการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ Proxy Means Test: PMT โดยดูจากรายได้สมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อปี และสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่ 1. ครอบครัวมีภาวะพึ่งพิง 2. การอยู่อาศัย 3. ลักษณะที่อยู่อาศัย 4. ที่ดินทำการเกษตรได้ 5. แหล่งน้ำดื่ม 6. แหล่งไฟฟ้า 7. ยานพาหนะ และ 8. ของใช้ในครัวเรือน นักเรียนที่ผ่านการคัดกรองจะรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีการศึกษา ระดับอนุบาล รับทุนการศึกษา 4,000 บาทต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ป.1 – ม.3) รับทุนการศึกษา 3,000 บาทต่อคนต่อปี
ปีงบประมาณ 2565 กสศ. จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนสังกัด กทม. จำนวน 5,000 ทุน อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลที่มีการจัดเก็บในครั้งนี้ พบว่า มีเด็กที่ผ่านการคัดกรองและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกิน 5,000 คน จะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับทุนการศึกษาจากงบประมาณปี 2566 ที่จะมอบให้ในภาคเรียนที่ 2 ต่อไป
Recent Comments