องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) จัดสัมมนาร่วมกันครั้งแรกเพื่อแสดงศักยภาพการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ นำเสนอผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น มุ่งเน้นสร้างประสิทธิภาพการทำงานรอบด้าน

นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะสนับสนุนการทำงานของกิจการเทคโนโลยีอวกาศ รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีโอกาสในการช่วยสนับสนุนพลักดันให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของการทำงานอวกาศระหว่างประเทศ โดยงานนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมหารือ ให้ข้อมูลและนำไปสู่การทำธุรกิจร่วมกัน จากเดิมที่เทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องการนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกี่ยวเนื่องไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การพัฒนาที่มากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการกำหนดตำแหน่งผ่านดาวเทียมที่ส่งผลต่อธุรกิจการขนส่ง และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีทิศทางแนวโน้มในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ รวมไปถึงอุตสาหกรรมอวกาศอีกมากมาย ตลอดจนการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับอวกาศ ทำให้เราคาดหวังว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงการลงทุนร่วมกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับสากล

ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ตัวแทนจากประเทศไทยได้ร่วมกล่าวต้อนรับ และในฐานะตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา พัฒนาและวิจัยงานเทคโนโลยีอวกาศเพื่อเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนางานด้านอุตสาหกรรมอวกาศ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้งานด้านเทคโนโลยีอวกาศไม่หยุดนิ่ง ทำให้คาดหวังถึงการทำงานที่จะร่วมกันในอนาคต และตั้งปณิธานที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเปลี่ยนแปลง และก้าวไปในโลกอนาคตทางอวกาศร่วมกัน

งานสัมมนาทางธุรกิจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงประสิทธิภาพ ประสิทธิผลด้านงานทางเทคโนโลยีอวกาศ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่จะก้าวไปสู่งานอวกาศเพื่อการพาณิชย์ที่มากขึ้น ในอดีตเราใช้ประโยชน์หลักจากงานเทคโนโลยีอวกาศเพื่องานด้านภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ผังเมือง เป็นหลัก ซึ่งเพื่อการพัฒนาในอนาคตหลากหลายประเทศจึงมุ่งเน้นให้เป็นการพัฒนาสู่งานด้านอุตสาหกรรมอื่น ๆ มากขึ้นเพื่อเป็นส่วนช่วยในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศ

โดยในงานสัมมนา ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับกิจการเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย และแผนงานการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ งานด้านข้อมูลที่เราได้ นำองค์ความรู้มาแก้ปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เพื่อการเกษตร รวมไปถึงงานด้านอุตสาหกรรมดาวเทียมที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ

อีกทั้งยังเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้สามารถเป็นแรงผลักดันในการนำเสนอแนวคิดทางธุรกิจเพื่อกิจการทางเทคโนโลยีอวกาศอีกด้วย โดยภาครัฐของทั้งประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งในอีกหลายประเทศเล็งเห็นศักยภาพของหน่วยงานเอกชนที่สามารถเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในงานเทคโนโลยีอวกาศที่เร็วขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านความคล่องตัว ความหลากหลายของแนวคิดการปฏิบัติงาน ความสามารถของบุคลากร และความยืดหยุ่นในด้านต่าง ๆ

ทางด้านภาคธุรกิจที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ประกอบการเอกชนจากประเทศญี่ปุ่น 4 ราย ได้แก่

• บริษัท Space BD Inc. ผู้ประกอบธุรกิจการเทรดดิ้งอวกาศ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การขนส่งสินค้าไปยังอวกาศ เพื่อสร้างความเหนือกว่าทางธุรกิจ (เว็บไซต์ https://space-bd.com/en/)

• บริษัท Synspective Inc. ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับงานด้านเทคโนโลยีดาวเทียมที่พัฒนาต่อยอดเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติภัยต่าง ๆ ทางธรรมชาติ (เว็บไซต์ https://synspective.com/)

• บริษัท Tenchijin, Inc. ธุรกิจประเมินที่ดินสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม อสังหาฯ ด้วยการใช้ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม เพื่อที่จะนำไปสู่งานด้านการวิเคราะห์ และพัฒนาใช้ที่ดินให้ได้อย่างคุ้มค่า และได้ประโยชน์สูงสุด (เว็บไซต์ https://tenchijin.co.jp/?hl=en)

• บริษัท avatarin Inc. ให้บริการเทคโนโลยี Avatar ทางไกล (Teleportation) เสมือนจริงที่จะสามารถสร้างประสบการณ์การเดินทางไปทุกที่ทั่วโลก และในอวกาศ ด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ avatar และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับหุ่นยนต์ avatar (เว็บไซต์ https://about.avatarin.com/en/)

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็น Start Up ที่เริ่มต้นการนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้เพื่อโอกาสทางธุรกิจ อาทิ mu Space and Advanced Technology Co., Ltd., ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบิน และอวกาศ พร้อมให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม บริษัท Ricult บริการนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์เชิงประยุกต์กับการเกษตร การวิเคราะห์สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศต่อการเพาะปลูก เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้จัดงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจต่างเชื่อมั่นว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสู่การพัฒนางานด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศต่อไปในอนาคต โดยการเริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนักรู้ต่อบุคคลทั่วไปให้ทราบและเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศตลอดไปจนถึงความสำคัญของงานเทคโนโลยีอวกาศ การนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์ และสร้างประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกัน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล: [email protected] โทร. 065-1231424, 02-392-3288

#อวกาศ #ขุมทรัพย์ใหม่แห่งเศรษฐกิจอนาคต #เปิดโลกเศรษฐกิจอวกาศ
#รู้จักเศรษฐกิจอวกาศให้มากขึ้น #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอวกาศ #ดาวเทียม
#เทคโนโลยี #อุตสาหกรรมอวกาศ #เทคโนโลยีอวกาศ