ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ผสานพลังภาคีด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม เปิดเวทีสาธารณะระดับประเทศ TEP Forum 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” ยกขบวนผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา กูรูผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการชั้นนำ เครือข่ายพัฒนาครู โรงเรียน คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน ร่วมแชร์มุมมอง ระดมสมอง ถกประเด็นปัญหา พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในทุกมิติ
19 มีนาคม 2565 – ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP – Thailand Education Partnership) ผนึกภาคีด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม จัดงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” ในระหว่างวันที่ 19–20 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการชั้นนำ เครือข่ายพัฒนาครู โรงเรียน คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน ร่วมงาน โดยภายในงานมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM และ LIVE
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP – Thailand Education Partnership) กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน สาเหตุหลักจากการปฏิรูปโครงสร้างมากกว่าการเรียนรู้จริง และเป็นการขับเคลื่อนจากบนลงล่าง (Top–down) ด้วยการประกาศนโยบายจากส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมของระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงเรียนการสอนแบบท่องจำความรู้ (Passive Learning) ส่งผลให้คุณภาพของเด็กถูกลดทอนลง ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่ซ้ำเติมให้การศึกษาไทยให้เสียหายอย่างหนัก ความรู้ของเด็กไทยถดถอยเพราะสูญเสียโอกาสจากการที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งระบบการศึกษาที่มีคุณภาพต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เป็นการศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะให้ผู้เรียน ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ (Active Learning) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย (TEP) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายที่สนใจด้านการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ มุ่งมั่นปฏิรูปการศึกษาไทย ด้วยความเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ทั้งองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม ด้วยการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันและรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งนักเรียน ครู นักการศึกษา พ่อแม่ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นเสียงสะท้อนความต้องการจากผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ที่เผชิญกับปัญหาจริงไปยังผู้กำหนดนโยบาย และสังเคราะห์ความคิดเห็นเหล่านี้บนฐานวิชาการเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ รวมถึงการจัดงาน TEP Forum ในครั้งนี้จะเป็นเวทีสาธารณะระดับประเทศที่จะสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของการเรียนรู้ สร้างเสริมพลังของเครือข่าย อันจะนำไปสู่นโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในทุกมิติ
การจัดงาน TEP Forum 2022 ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของ TEP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในวงกว้าง
โดยกิจกรรมที่น่าสนใจในวันแรก ได้แก่ การเสวนาในหัวข้อ “วิกฤตโควิด สร้างโอกาสการศึกษาใหม่” โดย พงศ์ทัศ วนิชานนท์ นักวิจัยอาวุโส กลุ่มงานวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, Dr. Aarti saihjee, Chief of Education Section, UNICEF, ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education
และเสวนา “ภูมิทัศน์การศึกษาไทยแห่งอนาคต : เปลี่ยนอย่างไรให้ตอบโจทย์” โดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา, มิรา เวฬุภาค CEO mappa และ CEO & Founder, Flock Learning, ศศิธร สุขบท ผู้สื่อข่าวและ Content Creator ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส และ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนราชดำริ กรุงเทพฯ พร้อมกิจกรรมระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย
ส่วนกิจกรรมในวันที่ 2 ได้แก่ TEP Talk กับ 5 แรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนการศึกษาไทย พร้อมสรุปผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกิจกรรมล้อมวงเสวนา “บทบาทของคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย” โดย อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO & Editor–in–Chief THE STANDARD และ พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee ก่อนจะปิดท้ายด้วยกิจกรรม Network Meeting ผนึกกำลังเครือข่ายพัฒนาครู, เครือข่ายโรงเรียน, เครือข่ายคนรุ่นใหม่/เด็กและเยาวชน และเครือข่ายปฐมวัย
“การจัดงาน TEP Forum ในครั้งนี้ต้องการเน้นย้ำให้การปฏิรูปการศึกษาขยายไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นกระแสหลัก โดยเฉพาะวิกฤตโควิด–19 ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เป็นฐานสมรรถนะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นผลสำเร็จเชิงรูปธรรมสู่สาธารณะ พร้อมทั้งคาดหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต มีทัศนคติที่ถูกต้อง และเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวข้ามความล้าหลังด้านการศึกษา พร้อมก้าวสู่สังคมที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นพ.ยงยุทธ กล่าวในตอนท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว พร้อมร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ได้ที่ https://www.facebook.com/TEPThaiEDU
Recent Comments