วันที่ 1-2 กรกฎาคม ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับโครงการสังเคราะห์และขับเคลื่อนแพลตฟอร์มสร้างรายได้ครัวเรือนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนสู่การใช้ประโยชน์และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. ร่วมกันจัดการประชุมและนิทรรศการเพื่อการขับเคลื่อนชุมชนพื้นที่ “นวัตกรชุมชน: เทคโนโลยีที่เหมาะสมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทย” ภายใต้แนวคิด “พลังสร้างสรรค์ จากนวัตกรชุมชน สู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม”
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า หน่วย บพท. จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้รับงบประมาณวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริมววน.) เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยกระดับขีดความสามารถ “นวัตกรชุมชน” แกนนำจากภาคประชาชนที่สามารถเรียนรู้-รับ-ปรับใช้องค์ความรู้ และขยายผลนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมถึงสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ (Change Agent) โดยเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานรูปแบบเครือข่ายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ด้วยเหตุนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชน ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น จึงได้มีการได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในแผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (พ.ศ.2563-2567) และแผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” (พ.ศ.2563-2567) และแผนงาน “การวิจัยต่อยอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology)” (พ.ศ.2566 – ปัจจุบัน) เพื่อให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีความสามารในการรับ-ปรับ-ใช้ นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีพร้อมใช้ ผ่านการสร้างนวัตกรชุมชนให้มีทักษะการจัดการความรู้ เรียนรู้และรับปรับใช้นวัตกรรม สามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปใช้ในการจัดการปัญหาสำคัญในชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมถึงรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤตให้ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเกิดปัญหา (Resilience)
“ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2563 – 2568) บพท. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ เครือข่ายมหาวิทยาลัย รวม 55 หน่วยงาน และโครงการวิจัยสังเคราะห์ 3 หน่วยงาน รวมถึงภาคีต่าง ๆ ทั่วประเทศขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนผ่านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและนวัตกรรมสังคม ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนไปแล้วกว่า 2,647 ชุมชน 1,511 ตำบล ในพื้นที่ 69 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพร้อมใช้รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชนทั้งสิ้น 1,653 นวัตกรรม/เทคโนโลยีที่เหมาะสม ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รวมถึงสร้างนวัตกรชุมชนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในบทบาทนวัตกรชุมชนให้กับชุมชนทั่วประเทศ 23,753 คน
และในปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้มีนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนแผนงานตาม ยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “ครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม 32,000 ครัวเรือน” โดยวางเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนในชนบท กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการรายในพื้นที่ บนความร่วมมือระหว่างหน่วย บพท. กับ 3 เครือข่าย มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง เพื่อขยายผลต่อยอดนวัตกรรมพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสมจากงานวิจัยให้กับครัวเรือนในชนบท กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่”
รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ประธานอนุกรรมการพิจารณาติดตามและประเมินผล แผนงานย่อยรายประเด็น การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับเศรฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือน กล่าวว่า พลังสร้างสรรค์จากนวัตกรชุมชน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่ บพท.สนับสนุนให้เกิดการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ (Catalyst for Change) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ผลจากการทำงานที่ผ่านมา บพท. มีข้อค้นพบว่า งานวันนวัตกรชุมชนเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วย เสริมพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในการสร้างและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ “ปัญหา–บริบท–โอกาส” ของแต่ละชุมชน จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมฐานราก ให้เป็นพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนของประเทศ ไม่ใช่เพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หากแต่เป็นเวทีรวมพลังความรู้ พลังความร่วมมือของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคีเครือข่ายทุกระดับ ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานของสังคมไทยโดยมีนวัตกรรมที่เกิดจากความสามารถของคนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นอย่างแท้จริง”
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เป็นเพียงเวทีเพื่อยกย่องเชิดชูบทบาทของนวัตกรชุมชนในฐานะ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ นวัตกรชุมชน รวมถึงนวัตกรรมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีการนำไปใช้และต่อยอดจนประสบความสำเร็จ อันจะนำไปสู่การถอดบทเรียน การรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในโอกาสต่อไป พร้อมกับการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนวัตกรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ นักวิจัย ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในระดับพื้นที่ได้อีกด้วย
ข้อมูลประกอบ
การพัฒนาพื้นที่ (Area Based Development) เป็นทิศทางหลักของการปฏิรูปประเทศไทยเป้าหมาย หลักของการพัฒนาพื้นที่คือการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและพื้นที่ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับ ประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับบริบทและฐานทุนเดิม เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอนาคตการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ให้สามารถเผชิญกับความท้าทายและรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดจาก Technology Disruption ให้ชุมชนมีความสามารถ หาวิธีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการได้ในระยะยาว และเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถของสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่มีองค์ความรู้เดิมให้สามารถพัฒนาชุมชนได้ด้วยตนเอง ยกระดับการเรียนรู้เพื่อให้สามารถก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ รวมถึงเตรียมระบบภูมิคุ้มกันด้วยการเพิ่มทักษะและความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เพียงพอและพร้อมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภายในและภายนอกประเทศ
ด้วยเหตุนี้ บพท. จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วยการขับเคลื่อนการสร้าง “นวัตกรชุมชน” ที่มีความสามารถ รับ-ปรับ-ใช้-ถ่ายทอด นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พร้อมใช้และเหมาะสมกับปัญหา/ความต้องการชุมชน (Appropriate Technology) เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่สามารถ “เลือกรับ” เทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริง “ปรับปรุงและพัฒนา” นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีให้สามารถใช้กับบริบทของพื้นที่และชุมชนได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่ “การใช้” ที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของตนเอง พร้อมทั้ง “สามารถถ่ายทอด” ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกันได้อย่างเหมาะสม
โดยตัวชี้วัดของชุมชนที่สามารถรับ-ปรับ-ใช้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความสามารถและความยืดหยุ่นในการปรับตัว (Resilience) คือ 1) สามารถบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ในชุมชนได้ แม้เกิดเหตุวิกฤตแห่งการเปลี่ยนแปลง (Critical Mass) ในระดับรากฐานของประเทศ 2) สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบรับกับแรงกระทบที่เข้ามาได้ 3) สามารถพึ่งพาตนเองได้หากโดนตัดขาดจากความช่วยเหลือภายนอก สามารถแก้ไขปัญหาและลงมือทำด้วยตนเอง
ทั้งนี้ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บพท. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2567 หน่วย บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ที่เกี่ยวกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและความเข้มแข็งของชุมชน คือ แผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” และแผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายทำให้คนในพื้นที่ (ชุมชน ภาคี) ตระหนักถึงศักยภาพตนเองและเรียนรู้ในการจัดการปัญหาและการพัฒนาร่วมกันผ่านการทำงานของ โครงการวิจัยที่กำหนดให้มีพื้นที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำเอานวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี การจัดการ ฯลฯ เข้าไปสร้างความเข้มแข็งและยกระดับรายได้ให้กับประชากรฐานรากกลุ่มเป้าหมาย
ดังนั้นในปี 2568 ทาง หน่วย บพท. จึงได้พัฒนากรอบการวิจัย “การขยายผลผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ทั้งครัวเรือนในชนบทและผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง หน่วย บพท. กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และกลุ่มมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อขยายผลและต่อยอดนวัตกรรามพร้อมใช้/เทคโนโลยีที่เหมาะสม จากงานวิจัยให้กับครัวเรือนในชนบท กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม (Appropriate Learning Process) ให้กลุ่มเป้าหมายได้เกิดการเรียนรู้ รับ-ปรับ-ใช้ นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงกระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรชุมชนให้มีทักษะการจัดการความรู้ เรียนรู้ และปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการปัญหาสำคัญของชุมชน หรือการสร้างโอกาสใหม่ และสร้างคุณภาพชีวิตของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมถึงรับมือความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเกิดปัญหา (Resilience)