กระแสโซเชียลฮือต้านควบรวมทรู-ดีแทคกระหึ่ม หลังสองค่ายยักษ์เปิดชื่อบริษัทร่วม “ทรูคอร์ปอเรชั่น” เหล้าเก่าในขวดเดิมล้วนๆ หวั่นแบนด์ดีแทคหายไปจากตลาด #ค้านควบรวม – #ย้ายค่าย กระหึ่มโซเชียลทันที

หลังจากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แจ้งความคืบหน้าแผนการควบรวมกิจการ โดยที่ประชุมคณะกรรมการทั้งสองบริษัทเห็นชอบให้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ “บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ซึ่งยังคงเป็นชื่อเดิมของบริษัททรูคอร์ปอเรขั่น จำกัด (มหาชน) ทุกกระเบียดนิ้ว โดยเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทในวันที่ 23 ก.พ.นี้ พร้อมยืนยันว่าทั้งสองแบรนด์จะยังคงแยกกันทำตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้ลูกค้า แต่กระนั้นโลกโซเชียลพากันวิพากษ์กระแสควบรวมธุรกิจที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งนี้อย่างหนัก

#ย้ายค่ายกระหึ่มโซเชียลอีก
เสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการต่อการควบรวมทรู-ดีแทค ที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ทรูคอร์ปอเรชั่น” หรือทรูเช่นเดิม แม้ทั้งสองบริษัทจะยืนยันว่า จะยังคงแบรนด์ทรูและดีแทคในการทำตลาดต่อไปตามที่ กสทช.กำหนด แต่การเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นทรู แทนที่จะเป็นชื่อร่วมอย่าง “DTrue” ที่สะท้อนทั้งสองแบรนด์อยู่นั้น ทำให้ลูกค้าและแม้กระทั่งพนักงานของดีแทคเองมองว่าในอนาคตแบรนด์ดีแทคคงจะหายไปจากตลาดอย่างแน่นอน

“ทำไมไม่เปลี่ยนชื่อเป็น Dtrue ไป ยังมีคำของทั้ง 2 ค่ายดั้งเดิมอยู่ นี่รวมแล้วกลืนหาย เหมือน Dtac หายไปเลย คนเฒ่า คนแก่ เขาจะรู้เรื่องไหมเนี้ย เดี๋ยวมิจฉาชีพก็หาช่องทางหากินในเรื่องนี้ต่ออีกแน่นอน”

บางส่วนยังบอกด้วยว่าก็ตรงกับความเป็นจริงนะ เทเลนอร์เลิกทำ ขายกิจการให้ทรู การควบรวมเป็นคำพูดให้ดูหรูดูทัดเทียมเท่านั้นเอง (บริษัทที่ขาดทุนไม่มีปันผล ซื้อบริษัทที่ฐานะการเงินดีมีกำไรปันผล) ส่วนชื่อ ดีพร้อม แฮปปี้ บริการใจดี น้องตัว d คงค่อยสลายไป เป็นคนละสีกับทรู

ขณะที่ ล่าสุด ชาวเน็ตต่างออกมาโพสต์และพร้อมใจติดแฮชแท็ก #ย้ายค่าย ในทวิตเตอร์ จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการควบรวม บางส่วนก็บอกถึงหากต้องไปรวมกับอีกค่าย จะยังดีเหมือนเดิมหรือไม่

*กังขาทำไมรวมกันแล้วเป็น “ทรู”
ทั้งนี้ SPACEBAR ได้วิเคราะห์กระแสโซเชียลมีเดียด้วยเครื่องมือ Social listening ต่อกรณีการรวบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในครั้งนี้พบว่า ชาวเน็ตเกินกว่าครึ่ง หรือ 51% ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวการผูกขาด และมองว่าการอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจของ กสทช.ก่อนหน้าไม่สมเหตุสมผล, โดยหน่วยงานที่ถูกต่อว่ามากที่สุดคือ กสทช. ซึ่งผู้ใช้บริการมองว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ และสนับสนุน กสทช. เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย, นายทุนครอบงำประเทศและเอาเปรียบประชาชน ส่วนรัฐบาลไม่มีอำนาจพอที่จะห้ามนายทุน และประชาชนเสียเปรียบที่สุด หากค่ายมือถือเอไอเอส จับมือกับ ทรู+ดีแทค ขึ้นราคา

ส่วนอีก 32% สงวนท่าที หรือแชร์ข่าวโดยไม่มีคอมเมนต์ และ 17% เห็นด้วย โดยบางส่วนมองการควบรวมธุรกิจเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ หากอยากให้กิจการในตลาดหุ้นได้ผลกำไรสูงสุด, ที่ผิดคือ หน่วยงานกำกับดูแลที่ปล่อยให้ดีลนี้ผ่านไปได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์รัดกุมเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ, กสทช.มีเงื่อนไขหลังควบรวมว่า ต้องลดค่าบริการให้แก่ประชาชนเป็นเวลา 3 ปี, บางส่วนยังมองว่าการควบรวมจะทำให้ราคาแพคเกจถูกลง เพราะกำหนดเพดานราคาไว้แล้ว และบางส่วนมองว่า การควบรวมอาจทำให้การบริหารองค์กรและการบริการดีขึ้นกว่าเดิม

โดยพบว่า ยอดรวมคนที่เห็นโพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้มีมากถึง 7.38 ล้านครั้ง มีจำนวนการโต้ตอบ 4.4 แสนครั้งโดยแพลตฟอร์มที่มีคนพูดถึงดีลควบรวมมากที่สุดคือ ทวิตเตอร์ 82% เฟซบุ๊ก 14% อินสตาแกรม 3% และยูทูป 1% ยอดทวีตข้อความติดแฮชแท็ก #หยุดควบรวมมือถือ พุ่งถึง 178,000 ข้อความ

*ดีแทคนั่งไม่ติดร่อนแถลงการณ์
ขณะที่ดีแทคได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ยืนยันว่า ดีแทค พร้อมเดินหน้าควบรวม ชูบ้านหลังใหม่คงแบรนด์เดิมแต่ให้มากกว่าเดิม ลูกค้าจะได้รับความสุขจากการใช้งานเพิ่มขึ้น ทั้ง 5G สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายมากกว่าเดิม เพิ่มช่องทางการใช้บริการ และสิทธิประโยชน์มากมาย

โดยเมื่อควบรวมสู่บริษัทใหม่เสร็จแล้ว แบรนด์ดีแทคยังคงให้บริการต่อไป ลูกค้าใช้งานได้ปกติเหมือนเดิมและได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมาย โดยบ้านหลังใหม่จะให้บริการหลากหลาย ทั้ง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจมากกว่าเดิม พร้อมทั้งเน้นการตอบโจทย์การให้บริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าในราคาที่เข้าถึงได้

แบรนด์ดีแทคในบ้านใหม่จะเพิ่มสัญญาณ 5G และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน (coverage) และเพิ่มความจุรองรับการใช้งาน (capacity) และเพิ่มจุดใช้งาน WiFi สามารถเชื่อมต่อการใช้งานในอาคาร ศูนย์การค้า พื้นที่สาธารณะต่างๆ นอกเหนือจากสัญญาณคุณภาพ 5G และ 4G ถ้าควบรวมสู่บริษัทใหม่เสร็จสิ้น ลูกค้าดีแทคไม่ว่าจะอยู่ในเมือง นอกเมือง พื้นที่ห่างไกล หรือ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้ง คนทั่วไป นักเรียน นักธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

“ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีเพิ่มขึ้นจากการควบรวมดีแทคและทรู โดยลูกค้าดีแทคใช้สิทธิพิเศษ dtac reward และลูกค้าทรูใช้ TrueYou จากร้านค้าพันธมิตรที่หลากหลายทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ และแบรนด์ดีแทคเดิมในบริษัทใหม่จะทำให้ลูกค้ามีศูนย์บริการให้บริการหลังการขายเข้าถึงได้ สะดวกขึ้น พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง”

บริษัทใหม่จะเพิ่มความแข็งแกร่งจากการดำเนินธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มศักยภาพการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีล้ำหน้าระดับโลกมาสู่เครือข่ายคุณภาพและนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่างๆ พร้อมทั้งผลักดันวาระการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งสองฝ่ายกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 30 อย่างเท่าเทียมในบริษัทใหม่ โดยเชื่อมั่นว่าการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคจะสร้างประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยสู่ความล้ำหน้า