กองทุนพัฒนาสื่อฯ ขานรับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล จัดงาน “2025 International Creative Content Creators : 2025 ICCC” ยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยให้ก้าวสู่สากล พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านคอนเทนต์ระดับนานาชาติ ส่งเสริมทุนวัฒนธรรม-ภูมิปัญญาไทย ตั้งแต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และสื่อออนไลน์ให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั่วโลก เผยปัจจุบันตลาดสตรีมมิงวิดีโอ ออนในประเทศสุดปัง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 14,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในอนาคต
วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2568) ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธาน พิธีเปิดงาน “2025 International Creative Content Creators” พร้อมกล่าวปาฐกถา “นโยบายและการส่งเสริมสนับสนุน Soft Power ของรัฐบาลไทย” โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้บริหารระดับสูงให้การต้อนรับ
นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า Soft Powerหรือ “อำนาจละมุน” เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมและยกระดับซอฟท์ พาวเวอร์ 14 สาขาของประเทศไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการบูรณาการทุนทางวัฒนธรรมของไทยเข้าไปในสื่อทุกรูปแบบ เช่น ภาพยนตร์ไทย ซีรีส์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถเป็นช่องทางที่ยอดเยี่ยมในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จักและเข้าใจมากยิ่งขึ้น การพัฒนา Soft Power ผ่านการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ด้วยการดึงเอาคุณค่าและศักยภาพที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมถือเป็นกลไกหนึ่ง ในการทำหน้าที่ผลักดัน สนับสนุน และขับเคลื่อนโครงการและงบประมาณ Soft Power โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในส่วนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ดำเนินการเรื่องการส่งเสริม Soft Power อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ทุนแก่ผู้ผลิตสื่อในประเด็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือ Soft Power ทั้งในรูปแบบของการผลิตละครชุด การผลิตภาพยนตร์หรือสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่สามารถเผยแพร่ Soft Power ไปยังตลาดต่างประเทศ การจัดงานในวันนี้ถือเป็นการตอกย้ำนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยเป็นการเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงการนำผลงานที่กำลังทำอยู่และกำลังจะทำต่อไปขยายผลต่อยอดเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมและการตื่นตัวในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสในการพัฒนางานและองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และหวังว่าจะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน “2025 International Creative Content Creators (2025 ICCC)” มีเป้าหมายมุ่งยกระดับทักษะ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่ผู้ผลิตสื่อไทย โดยจัดเวทีสัมมนาตลอด 3 วันเต็ม ให้ทุกท่านได้เรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดสู่คอนเทนต์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีความร่วมสมัย สร้างสรรค์ ผ่านไอเดียของผู้ผลิตไทยให้ต่างชาติรู้จัก นำไปสู่การสร้างรายได้ ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อ Creator, Producer, Script writer, OTT Platform ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มาแบ่งปันประสบการณ์ อัปเดตเทรนด์ด้านสื่อ กระบวนการสร้างแรงบันดาลใจนำไปสู่แนวคิดและการนำเสนอใหม่ ๆ รวมถึงเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพตั้งแต่ต้นจนจบอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตสื่อ เพื่อให้ท่านสามารถนำมาประยุกต์ในการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิต พัฒนาบุคลากรในสายอาชีพสื่อ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อต่อยอดส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทย ให้ไปสู่ระดับนานาชาติได้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อในประเทศไทย ได้ถูกเปลี่ยนผ่านหรือทรานส์ฟอร์มมาราว 10 กว่าปี หรือ 1 ทศวรรษแล้วทำให้หลาย ๆ ภาคส่วนต้องมีการปรับตัวเรื่อยมา ในมุมของผม การผลิตสื่อจากวันนั้นจนวันนี้ คอนเทนต์ไทยเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ สารคดี รายการซีรีส์ ละครต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาและโฆษณาดิจิทัล มีความสร้างสรรค์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน” ดร.ธนกร กล่าวย้ำ
ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าตลาดสตรีมมิงเป็นสื่อที่ใกล้ตัวทุกคนมาก และมีการแข่งขันกันดุเดือดมาก แต่ละแพลตฟอร์มป้อนคอนเทนต์หลากหลาย เพื่อหวังตรึงกลุ่มเป้าหมายให้เกาะขอบจอ ซึ่งแพลตฟอร์มระดับโลกล้วนแต่เป็นเจ้าใหญ่ๆทั้งสิ้น ทำให้เล็งเห็นศักยภาพของไทยทั้งศักยภาพของผู้ผลิตคอนเทนต์ และศักยภาพของผู้ชมไทยที่เป็นฐานอินเตอร์แฟนจำนวนมาก ทำไมแพลตฟอร์มเหล่านั้นจึงแข่งขันกันแย่งชิงตลาดไทย เพราะมูลค่าทางการตลาดมหาศาลนั่นเอง สังเกตจากละคร ซีรีส์ไทย ที่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย นอกจากจะฉายในฟรีทีวีแล้วยังนำไปฉายทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากมีแฟนชาวต่างชาติที่ชื่นชอบคอนเทนต์ไทย แพลตฟอร์มบางเจ้ามีนโยบายให้ทุนผลิต Thai original content ด้วย ซึ่งข้อมูลจาก Statista ปี 2024 พบว่าตลาดสตรีมมิงวิดีโอ ออน ในภาพรวมของไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 12 % และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“งาน 2025 ICCC ไม่เพียงแต่เป็นเวทีสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้สร้างสื่อไทยได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต และกระบวนการผลิตสื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจุดประกายส่งเสริม soft power ของประเทศไทยออกสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย และยังเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต บุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อันจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจโลกให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป“ ดร.ธนกร กล่าวทิ้งท้าย
Recent Comments