สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ CCI เปิดตัว โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตงานฝีมือและงานหัตถกรรมสู่ความเป็นเลิศ (Grand Master) อย่างเป็นทางการ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม ในสาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ และสาขาอาชีพผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจแก่ช่างฝีมือไทย
พร้อมเป็นเสมือนสื่อกลางที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแลกเปลี่ยนทัศนะ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการอบรม ฝึกทักษะเชิงปฏิบัติการ และการประเมินวัดระดับมาตรฐานฝีมือ โดยเปิดรับสมัครผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้สนใจทั่วไป และนักเรียนนักศึกษา ร่วมกิจกรรมบ่มเพาะความรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาและต่อยอดอาชีพในรูปแบบ e-Learning โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
นายอินทพันธ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “CEA เป็นหน่วยงานภาครัฐฯ ที่มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบสำคัญด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งงานฝีมือและหัตถกรรมนับเป็นหนึ่งในจำนวน 15 รายสาขาที่ CEA ให้การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนา รวมถึง การสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพ และบรรยากาศที่เหมาะสมของนิเวศอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อการพัฒนาธุรกิจ ให้เกิดเป็นกลไกในการยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยการดำเนินโครงการ Grand Master ถือได้ว่าเป็นงานที่สอดคล้องกับภารกิจหลักของ CEA ซึ่งมุ่งยกระดับศักยภาพ ทักษะมาตรฐานฝีมือ และส่งเสริมบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ทั้งนี้ โครงการ Grand Master ได้เน้นความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าใจในศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาอาชีพงานฝีมือและหัตถกรรม กลุ่มผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ และกลุ่มเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ ให้ครอบคลุมความเชี่ยวชาญ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้น ระดับเชี่ยวชาญ และระดับชั้นครู หรือ Grand Master เพื่อสร้างความโดดเด่นและมูลค่าเพิ่มแก่บุคลากรในกลุ่มงานสร้างสรรค์ ให้เป็นที่เชื่อถือ และยอมรับในระดับสากล พร้อมกันนี้ ได้มุ่งสร้าง และพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ ผ่านเครื่องมือและกระบวนการในการถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ตามมาตรฐานแนวทางการพัฒนาทักษะฝีมืออย่างเป็นระบบ และมีขั้นตอนที่เหมาะสม ในรูปแบบ e-Learning เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญและคุณค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”
“ผลสำเร็จของโครงการฯ ที่ CEA และ CCI คาดหวัง คือ การสร้างแนวทาง และมาตรฐานเพื่อยกระดับมาตรฐานองค์ความรู้และสมรรถนะฝีมือของบุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติการ และการประเมินทดสอบวัดระดับฝีมือสู่ความเป็นเลิศ พร้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนและสังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กลุ่มงานฝีมือและหัตถกรรม อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในโครงการฯ นี้ เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง สถานประกอบการ สมาคม สมาพันธ์ สถาบันการศึกษา และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เสนอแนะความเห็น รวมทั้งถ่ายทอดความเชี่ยวชาญชำนาญการในทักษะสาขาอาชีพเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ และกระบวนการประเมินผลทดสอบมาตรฐานฝีมืออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “CCI ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำ ที่เปรียบเสมือนหน่วยผลิต ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เสริมสร้างความมั่นคงให้รากฐานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความเข้มแข็ง ทั้งการบ่มเพาะและพัฒนาทักษะ เสริมประสบการณ์ให้บุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีประสิทธิภาพ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สร้างให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฃองประเทศได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน CCI ก็มุ่งสร้าง และพัฒนา เครื่องมือหรือช่องทางในการเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อสร้างโอกาสให้บุคลากรที่มีความตั้งใจ ได้ร่วมกิจกรรม ฝึกฝนทักษะ เพิ่มประสบการณ์และยกระดับฝีมือ เพื่อสร้างศักยภาพความเป็นมืออาชีพในงานฝีมือและหัตถกรรม นอกจากนี้ ยังใช้ศักยภาพที่มีในการเชื่อมโยงโอกาสให้บุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ร่วมแสดงศักยภาพการผลิตผลงานที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกผ่านการบูรณาการองค์ความรู้อย่างสมบูรณ์ ตลอดจนการร่วมเวิร์คชอปกับผู้เชี่ยวชาญระดับชั้นครู”
“โดยในโครงการ Grand Master ทาง CCI ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล และสังเกตสถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม และได้ทำการคัดเลือก 2 สาขาอาชีพที่สำคัญต่อท้องถิ่นมาเป็นแกนหลักในการยกระดับฝีมือผู้ประกอบการ ได้แก่ 1. สาขาอาชีพเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ตามการออกแบบและระดับความวิจิตรของทักษะฝีมือ และ 2. สาขาอาชีพผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ โดยทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า 20 ท่านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย พร้อมทำความเข้าใจภาพรวมของความต้องการ ข้อจำกัด และแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อสร้างมาตรฐานอัตลักษณ์ด้านงานฝีมือและหัตถกรรม ผสมผสานความแตกต่างของเทคโนโลยีและความสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้มีความเป็นมืออาชีพได้มาตรฐานระดับสากล เป็นที่เชื่อถือและเป็นที่ยอมรับระดับโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลอย่างตรงจุด”
สำหรับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป และนักศึกษา ที่ต้องการพัฒนาทักษะมาตรฐานอาชีพในกลุ่มอาชีพงานผลิตผ้าทอเทคนิคมัดหมี่ และอาชีพผลิตเครื่องถมประเภทเครื่องใช้ สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ Grand Master ได้ เพียงส่งประวัติ รายละเอียดผลงาน หรือ Portfolio ของท่านให้คณะทำงานฯ พิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ อบรม และทดสอบวัดระดับมาตรฐานอาชีพ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ทั้งออนไลน์ และการทดสอบระดับมาตรฐานฝีมือจริง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นี้ ทาง https://forms.gle/CG44m92oMEup5mKA8
ทั้งนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม และผ่านการทดสอบวัดระดับมาตรฐานตามข้อกำหนดของโครงการฯ จะได้รับประกาศนียบัตร รวมทั้ง ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละสาขาอาชีพ จะได้รับเงินรางวัล รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย ยังได้รับสิทธิเข้าร่วมนำเสนอสินค้าและจัดแสดงผลงานเผยแพร่ในนิทรรศการ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 อีกด้วย
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ ได้ทางเว็บไซต์ของ CEA ที่ www.cea.or.th คลิกหัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์ หรือเว็บไซต์ของวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ CCI ที่ https://cci.swu.ac.th โทร. 092-851-5445, 082-429-8229 หรืออีเมล [email protected]
Recent Comments