กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และตัวแทนนักขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาที่มีทางเลือก เปิดตัวความร่วมมือภายใต้ชื่อ ‘เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือก’ จัดเวทีแถลงข่าวความร่วมมือและนำเสนอนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในหัวข้อ ‘ทางเลือกการศึกษาที่แท้จริงและตอบโจทย์ชีวิต ทางออกปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบ’
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายวิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย และตัวแทนนักขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาที่มีทางเลือก
เวทีนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือกระดมความเห็นเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมนำเสนอรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตหลากหลาย ทลายเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาในระบบกับนอกระบบ ด้วยการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างและเป็นการศึกษาที่มีทางเลือกสำหรับทุกคน
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า จากงานวิจัยในโครงการจัดการความรู้เพื่อสื่อสารการขับเคลื่อนนโยบายศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาของ กสศ. ที่ทำงานกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย 404 คน ในกรุงเทพมหานคร และ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น พิษณุโลก ราชบุรี และยะลา ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ารากของปัญหาเด็กหลุดจากระบบคือ การส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น อันเป็นผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาครอบครัว
จากการวิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์พบว่า เยาวชนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ และมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม และถึงแม้ว่าในปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ และช่วยให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 3.2 แสนคน สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้สำเร็จ ทว่าหากไม่มีนโยบายดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบซ้ำ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถก้าวข้ามรอยต่อช่วงชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 หรือ ม.3 ขึ้น ม.4 อีกจำนวนมาก
งานวิจัยยังพบด้วยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ครอบครัวของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือวันละ 34 บาท ขณะที่มีการกู้ยืมหนี้นอกระบบราว 150,000 บาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยข้อมูลระบุว่า 71 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มนี้มาจากครอบครัวแหว่งกลาง (ครอบครัวที่มีเพียงเด็กอยู่กับผู้สูงอายุ) และ 1 ใน 3 ของเด็กกลุ่มนี้ต้องอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุลำพังสองคน ภาระหนี้สินที่สูงกว่ารายรับหลายเท่าตัวและปัญหาภายในครอบครัวจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ อีกทั้งครอบครัวของเด็กส่วนใหญ่มองไม่เห็นว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือช่วยให้พ้นจากความจนได้อย่างไร เด็กและเยาวชนเหล่านี้จึงต้องออกจากโรงเรียนไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย มีรายได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ และไม่มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาทักษะเพื่อการมีรายได้ที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าการศึกษาทางเลือกจะถูกยกระดับความสำคัญมากขึ้น หลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกที่ผู้เรียนมีสิทธิออกแบบการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง ด้วยหลักสูตรที่เอื้อต่อผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีครูเป็นนักจัดการเรียนรู้ และมีระบบ ‘ธนาคารหน่วยกิต’ หรือ Credit Bank ที่ผู้เรียนสามารถประเมินประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิตใช้เทียบโอนได้
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ การศึกษาตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิ โดยมีระบบ Credit Bank เป็นตัวขับเคลื่อน การศึกษาทางเลือกจึงเป็นระบบที่ไม่ขึ้นกับส่วนกลาง แต่เป็นการศึกษาที่มีหลายช่องทางเพื่อรองรับเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ตามความต้องการ ตามศักยภาพ มีหน่วยจัดการศึกษาที่สามารถจัดทำหลักสูตรที่หลากหลาย และเหมาะสมกับบริบทของชีวิตเด็กแต่ละคน
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีมิติที่กว้างกว่าเรื่องความยากจน การทำงานจึงต้องมีโจทย์ตั้งต้นว่า จะทำให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้อย่างไร สำหรับกรมพินิจฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือดูแลฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมช่วงอายุ 12-18 ปี มีข้อมูลพบว่ามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษาระหว่างเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือต่ำกว่าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นหน้าที่ของกรมพินิจฯ จึงต้องสร้างโอกาสในการพัฒนาตัวเองภายใต้สิทธิพื้นฐานที่เด็กพึงมี ด้วยเครื่องมือสำคัญคือการศึกษา และการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการมีงานทำ
ที่ผ่านมากรมพินิจฯ ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายศูนย์การเรียน สถาบันการศึกษาสายอาชีพ และภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำนวัตกรรมและรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมเข้าไปให้ถึงเด็กทั้งในสถานพินิจฯ และในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ผ่านกลไกการทำงาน 3 ส่วนหลัก คือด้านวิชาการ จิตวิทยา และสังคมสงเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งคืนเด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับสู่สังคมอีกครั้ง พร้อมได้รับการพัฒนาตนเองที่ต่อเนื่อง มีทักษะในการประกอบอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ
“กรมพินิจฯ วางแผนการทำงานโดยแสวงหานวัตกรรมที่มีอยู่แล้วมาใช้ และได้ร่วมงานกับ กสศ. เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงทางเลือกทางการศึกษาที่หลากหลาย ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการเปิดประตูที่เคยปิดกั้น เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษาได้ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการศึกษากระแสหลัก แต่มีช่องทางมากมายให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจและถนัด แล้ววันที่กลับออกไป เขาจะมีทักษะอาชีพ มีวุฒิการศึกษาเป็นเครื่องมือนำทางให้พบพื้นที่ของตนในสังคม”
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า โมเดลการทำงานระหว่างกรมพินิจฯ กับ กสศ. เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ผ่านโครงการ ‘นครพนมโมเดล’ จนเห็นว่าการจัดการศึกษาทางเลือกเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับบริบทของเด็กและเยาวชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ด้วยพื้นเพปูมหลังครอบครัว ช่วงวัย ประสบการณ์ หรือวุฒิการศึกษา รวมถึงข้อจำกัดอื่น ๆ อีกมาก จึงมีการขยายผลจากจังหวัดนครพนมไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่อื่น ๆ ทำให้เด็กและเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจฯ สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีเป็นจำนวนมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมพินิจฯ ไม่เพียงคาดหวังว่ากระบวนการที่กล่าวมาจะสามารถลดความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้ แต่ยังมองไปถึงเป้าหมายสำคัญกว่านั้นคือเป็นการทำงานเชิงป้องกัน บนพื้นฐานความคิดที่ว่าถ้าสามารถเปลี่ยนทัศนคติและทำให้เด็กและเยาวชนค้นพบเส้นทางชีวิตที่ดีงามได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตให้กับคนรุ่นถัดไปในครอบครัวของตนเอง และนั่นคือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคมที่สามารถทำได้ผ่านการมอบโอกาสทางการศึกษา
นายวิทิต เติมผลบุญ เลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน หนึ่งในกำลังสำคัญของการผลักดันการจัดการศึกษาทางเลือก และเป็นผู้ริเริ่มโครงการนครพนมโมเดล กล่าวว่า เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่ปัญหาซับซ้อน แต่เป็นปัญหาที่ ‘ทับซ้อน’ ต่อเนื่องกันจนถึงจุดหนึ่งสังคมจะแบกรับไม่ไหว จึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องพูดถึงเรื่องการศึกษาทางเลือก ประเด็นสำคัญคือเด็กที่หลุดออกมาก่อนจบชั้นมัธยมต้นเกือบทุกคน จะยังไม่สามารถเรียนในรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยหรือ กศน. ได้ เนื่องจากอายุไม่ถึง 15 ปี อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่าสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาคละรูปแบบได้คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างกันได้ จึงได้มีการพยายามทดลองนำการศึกษาในระบบ ‘ศูนย์การเรียน’ มาใช้ เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการศึกษา
นายวิทิต กล่าวอีกว่า หลังจากประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งกับโครงการนำร่องที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม เครือข่ายการจัดการศึกษาทางเลือก จึงจับมือกับศูนย์การเรียน 6 แห่ง เพื่อกระจายการทำงานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถานประกอบการที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาในสาขาวิชาที่สนใจ เพื่อนำไปใช้ทำงานประกอบอาชีพได้จริง รวมถึงพัฒนาศักยภาพต่อเนื่องตามเส้นทางของแต่ละคน
“หากรูปแบบการศึกษาทางเลือกได้รับความสนใจและพัฒนาต่อเนื่อง จนสามารถตอบโจทย์ชีวิตของเด็กและเยาวชนทุกคนได้ในระดับเดียวกับการศึกษากระแสหลัก เมื่อถึงวันนั้นเราจะไม่มีเด็กนอกระบบการศึกษาอีกต่อไป”
นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบุไว้ว่า ภาคสังคม บุคคล ครอบครัว องค์กรเอกชน สถานประกอบการ มีสิทธิ์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยเรียกว่า ‘การศึกษาภาคสังคม’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือปฐมวัย โรงเรียน และศูนย์การเรียน ฉะนั้นการศึกษาทางเลือกถือว่ามีสถานภาพทางกฎหมายชัดเจน ทว่า 24 ปีผ่านมา การยอมรับและสวัสดิการที่ควรจะครอบคลุมการศึกษาภาคสังคมกลับแทบไม่เกิดขึ้น เด็กและเยาวชนที่เรียนในระบบศูนย์การเรียนจึงไม่ได้รับปัจจัยพื้นฐานเช่นเดียวกับเด็กที่อยู่ในการศึกษาตามระบบปกติ อีกทั้งครูในระบบการศึกษาทางเลือกยังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านการอบรมความรู้ และเข้าไม่ถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับ ฉะนั้น ณ ปัจจุบันที่มีการผ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ทำให้การจัดการศึกษาภาคสังคม ไม่ว่าในรูปแบบศูนย์การเรียน หรือ ‘บ้านเรียน’ มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น และพร้อมเป็นทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม ถือเป็นการยกระดับการศึกษาภาคสังคม ตั้งแต่การจัดการศึกษาในระดับเล็ก ๆ อย่างครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ให้มีสถานภาพตรงตามที่ พ.ร.บ. ระบุ และมีสิทธิ์ในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น
“การศึกษาทางเลือกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้มีพื้นที่ มีการเติบโตที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของนิเวศการเรียนรู้และภูมิทัศน์ทางการศึกษาในปัจจุบัน เนื่องจากบริบทความต้องการของเด็กและเยาวชนมีความหลากหลายซับซ้อน รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษายังต่างไปจากอดีต ดังนั้นทิศทางของการศึกษายุคถัดไป ต้องทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติได้ โดยสามารถเรียนรู้ได้จากทุกหนทุกแห่ง รวมถึงมีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาจากรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม หากทำได้ถึงจุดนั้น การศึกษาทางเลือกจะเป็นอีกลู่หนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในภาพรวม” นายเทวินฏฐ์ กล่าว
Recent Comments