เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และมูลนิธิปัญญากัลป์ จัดพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่เด็กเยาวชนในกระบวนยุติธรรมจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 101 คน ณ โรงละครคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลังสำเร็จการศึกษาผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตตามความถนัด อันเป็นผลสำเร็จของโครงการ ‘พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. และกรมพินิจฯ สนับสนุนระบบการจัดการศึกษาภายใต้การพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ที่ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีความสนใจด้านการศึกษา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมเป็นโจทย์ท้าทาย ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพื้นที่เป็นพื้นที่ปิด ดังนั้นการจะฝ่ากำแพงที่หนาทึบและปิดสนิทเข้าไปสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนช่วยกันออกแบบวิธีการ และมีนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อผลักดันให้การเรียนรู้เข้าไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
“สำหรับน้อง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ประเด็นสำคัญคือไม่ใช่แค่เข้าถึงการศึกษา แต่ต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ ให้เขารู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคม และเมื่อกลับออกไป จะต้องมีการดูแลพวกเขาเพื่อไม่ให้วนเวียนกลับไปในวงจรเดิม ๆ ซึ่งตรงนี้แค่ให้ทุนการศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีระบบติดตามต่อเนื่องว่าการออกไปใช้ชีวิตนั้นไปต่ออย่างไร มีคุณภาพได้แค่ไหน ทางครอบครัว ชุมชน สถานประกอบการให้การต้อนรับอย่างไร โจทย์เหล่านี้คือสิ่งที่ทุกฝ่ายพยายามทำร่วมกัน กสศ. ไม่ใช่ให้แค่ทุน แต่ให้ชีวิตไปต่อได้อย่างมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี เพื่อให้เด็กออกไปมีชีวิตที่ปกติ มีที่พึ่งพิง และไม่วนซ้ำกลับมาทำผิดอีก ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
พิธีมอบวุฒิบัตรครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของการจัดงานมอบวุฒิบัตรให้แก่เด็กเยาวชนในกระบวนยุติธรรมอย่างเป็นทางการ โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. ประกอบด้วย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ, นายภัทระ คำพิทักษ์, ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ พร้อมด้วยนางสาวศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กเยาวชน นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมสร้างโอกาสเพื่อการเรียนรู้ กสศ. และหน่วยงานภาคีการศึกษา ร่วมมอบวุฒิบัตรสำเร็จการศึกษาหรือเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3, มัธยมศึกษาปีที่ 6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
อภิรักษ์ หนึ่งในเยาวชนที่เข้ารับวุฒิบัตร เผยความรู้สึกว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดที่จะเรียนและเห็นความสำคัญของการศึกษา เพราะเคยมีงาน มีรายได้จากการประกอบอาชีพสุ่มเสี่ยง จนวันหนึ่งเส้นทางนั้นถูกปิดลงและต้องเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ความคิดจึงเปลี่ยนไปจากการดูแลและกิจกรรมที่จัดขึ้นในโครงการฯ ทำให้ได้หันกลับมาทบทวนชีวิตมากขึ้นจนตระหนักว่าถ้าเรียนให้จบ มีวุฒิการศึกษา แล้วกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง จะช่วยให้ไม่ต้องหวนกลับสู่วงจรชีวิตแบบเดิม ซึ่งได้เลือกเรียนหลักสูตรช่างเชื่อมโลหะในรูปแบบศูนย์การเรียนจนสำเร็จการศึกษาระดับ ม.3
ขณะที่ อัครพล ตัวแทนเยาวชนอีกรายเผยว่า เขาเคยฝันอยากเรียนปริญญาตรี แต่เมื่อต้องก้าวเข้ามาในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ก็บอกตัวเองว่าความฝันได้จบลงแล้ว แต่ด้วยการดูแลจากครูในศูนย์ฝึกฯ ทำให้กลับมาพบว่า ‘การศึกษา’ คือเครื่องมือที่จะช่วยกอบกู้ความฝันของเขากลับคืนมา
นางสาวศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ผลจากความตั้งใจที่จะจัดการศึกษาเพื่อความเสมอภาคสำหรับเด็กเยาวชนทุกคน ทำให้เกิดรอยยิ้มและความสุขที่เป็นความสำเร็จของเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ให้สามารถกลับเข้าสู่เส้นทางชีวิตที่ถูกต้องได้ รูปแบบการศึกษาที่หลากหลายตอบโจทย์ชีวิต คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ปัจจุบันได้ขยายรูปแบบการเรียนรู้ไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน 21 แห่งทั่วประเทศ มีเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมลงทะเบียนเรียนกว่า 1,000 คนทั่วประเทศ และผ่านกระบวนการจนสำเร็จการศึกษาและรับวุฒิบัตรแล้วมากกว่า 400 คน
“ปัจจัยที่ทำให้กรมพินิจฯ สามารถออกแบบเส้นทางการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวได้ เพราะเรามีภาคีที่เข้มแข็ง ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสศ. และได้มูลนิธิปัญญากัลป์มาช่วยขับเคลื่อนงาน รวมถึงมีการวิจัยเชิงลึกที่ไม่เพียงทำให้ค้นพบรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับน้อง ๆ แต่ยังมีกระบวนการติดตามผ่านโครงการชุมชนโอบอุ้ม ที่จะดูแลช่วยเหลือให้ทุกคนก้าวออกไปอย่างมั่นคง มีแรงบันดาลใจ และรู้สึกปลอดภัยในการเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง” รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าว
ด้าน นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ความสำเร็จของเด็กเยาวชนจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ เปรียบเหมือนกับการนำพาเด็ก ๆ เดินผ่านเส้นทางความมืดไปสู่แสงสว่างของชีวิตใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาคือเครื่องมือพัฒนาคน และทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและส่งต่อโอกาสทางการศึกษาได้ เพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง และจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมจะขับเคลื่อนการศึกษาให้เป็นวาระสำคัญของจังหวัด
“เด็กและเยาวชนถ้าไม่ได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพ ประเทศชาติก็เดินต่อไปไม่ได้ วันนี้จึงอยากให้ทุกท่านมาร่วมมือกัน ถ้าใครที่มีโอกาสและมีความพร้อมทำงานด้านการศึกษาอยากให้ยื่นมือเข้ามาเลย เช่นเดียวกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีแห่งนี้ ที่เราได้เห็นน้อง ๆ นักเรียนได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ได้รับโอกาสเรียนจนจบการศึกษา ได้พัฒนาทักษะอาชีพจนสามารถนำไปต่อยอดชีวิต ทั้งยังมีการสนับสนุนต่อเนื่องจากคณะทำงานที่คอยประคับประคองอยู่ข้างหลัง แม้เมื่อเด็กก้าวออกจากศูนย์ฝึกฯ แล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าน้อง ๆ จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน สามารถนำวุฒิบัตรที่ได้รับพาตัวเองไปสู่เส้นทางสายใหม่ และประสบความสำเร็จในชีวิตในวันข้างหน้า” รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าว
ทั้งนี้ พิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่เด็กเยาวชนในกระบวนยุติธรรมจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผลจากการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา ภายใต้แนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาและจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการศึกษา 2) การพัฒนารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชน 3) การพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้สนับสนุนและบริหารการจัดการศึกษา 4) การพัฒนากลไกเพื่อโอบอุ้มคุ้มครอง และสร้างความเข้มแข็งโดยเชื่อมโยงชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน โดยมีเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจฯ และศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน 21 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม
สำหรับศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ดูแล 7 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี มีรูปแบบการจัดการศึกษาหลายทางเลือก ประกอบด้วย 1) การศึกษาสายสายสามัญ ได้แก่ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), โครงการสัมฤทธิบัตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, การศึกษาเทียบประสบการณ์ผ่านศูนย์การเรียนเซนต์ยอร์นบอสโก ปทุมธานี 2) การฝึกวิชาชีพผ่านหลักสูตรวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ได้แก่ ช่างเชื่อมโลหะ, ช่างไม้และก่อสร้าง, ช่างไฟฟ้า, ดนตรี, ช่างศิลปหัตถกรรม, ช่างตัดผม, เกษตรกรรมพืชสวน, การช่างสตรี 3) หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ได้แก่ หลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์, การทำเบเกอรี, ช่างตัดเย็บ, การนวดเพื่อสุขภาพและการแปรรูปสมุนไพร, คอมพิวเตอร์เพื่อการสร้างอาชีพ
Recent Comments