กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง รวบรวมข้อมูลและแนวทางแก้ปัญหาสู่แผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ จ.พังงา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อการเกษตร และอุปโภค บริโภคตลอดทั้งปี ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 3 ตำบล ของอำเภอทับปุด พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 6,350 ไร่ คาดว่าทำ IEE แล้วเสร็จ มกราคม 2565
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการบริเวณฝายลำไตรมาศ ที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการ ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศมีการดำเนินงานสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ แล้วเสร็จในปี 2553 แต่จากการตรวจสอบข้อมูลแผนที่ พบว่า เนื่องจากพื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสูง ทางกรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ ต.บางเหรียง อ.ทับปุด จ.พังงา ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปประกอบในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)
โดยในระหว่างการศึกษากรมชลประทานได้ดำเนินการขออนุญาตกรมป่าไม้ เพื่อเข้าไปทำการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการในเขตป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ได้พิจารณาอนุญาตเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญให้กับประชาชนในการใช้อุปโภค-บริโภค และเพาะปลูกสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยการส่งเสริมรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตของจังหวัดพังงา
สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ มีพื้นที่โครงการประมาณ 570 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ ชนิดเขื่อนดิน ประกอบด้วยเขื่อนหลักและเขื่อนปิดเขาต่ำ โดยเขื่อนหลักมีสันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 407 เมตร สูง 37 เมตร และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ มีสันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 142 เมตร สูง 27 เมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำ 5.73 ล้าน ลบ.ม.
การส่งน้ำของโครงการจะส่งน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม เข้าสู่ระบบส่งน้ำเดิมที่ประกอบไปด้วย ฝายลำไตรมาศ และคลองส่งน้ำ 2 สาย คือ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย และ คลองส่งน้ำสาย 1 ซ้าย-สายใหญ่ฝั่งซ้าย รวมทั้งมีการวางท่อส่งน้ำชลประทานเพิ่มเติมบริเวณตำบลทับปุด ความยาวประมาณ 2.4 ก.ม. พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณหนองกก หมู่ 4 บ้านลุ่มเกรียบ ตำบลทับปุด เพื่อรองรับพื้นที่รับประโยชน์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการวางท่อส่งน้ำอุปโภคใหม่ไปยังพื้นที่ตำบลบางเหรียง ระยะทางความยาว 2.9 ก.ม. พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มแรงดัน จำนวน 2 แห่ง ที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ และบริเวณแยกทางเข้าวัดบางเหรียง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของตำบลบางเหรียง
หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 6,350 ไร่ โดยส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝน 5,200 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 1,500 ไร่ ครอบคลุมในพื้นที่ ตำบลโคกเจริญ ตำบลทับปุด อำเภอทับปุด ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ชลประทานสามารถทำเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งได้ตลอดทั้งปี โดยมีแนวคิดในการเปลี่ยนรูปแบบในการเพาะปลูกพืชเพิ่มเติม เพื่อให้ประสิทธิภาพการปลูกพืชดียิ่งขึ้น ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 25 จากเดิม โดยในอนาคตมีแผนที่จะปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากปาล์มและยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยอินทผาลัม กาแฟ ฟ้าทะลายโจร และไม้ผลต่าง ๆ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน (Cropping Intensity) เพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค ครอบคลุม ตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด ได้ประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลา 3 ปี ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างไม่รวมค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ประมาณ 480 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จำนวน 60 ราย เป็นแปลงพื้นที่ทำกิน 78 แปลง และชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับกระทบเห็นความสำคัญของการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ และเห็นด้วยกับโครงการทั้งหมด
นอกจากนี้ กรมชลประทานได้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนและนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนมากที่สุด และสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้วเสร็จ ในเดือนมกราคม 2565 ก็จะดำเนินการขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
Recent Comments