ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยความสำเร็จของงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่นไทยแลนด์เอ็กซ์โป 2022 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022) ภายใต้แนวคิด ‘Reconnecting the World เชื่อมเรา เชื่อมโลก กลับมาเจอกัน’ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า เป็นเวทีที่สร้างปรากฏการณ์การรวมพลังของทุกภาคีทั้งสตาร์ทอัพ นวัตกร ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ในการร่วมรังสรรค์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพและระบบนวัตกรรมเมือง เพื่อรองรับการเปิดเมืองด้วย ‘นวัตกรรม’ หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ผ่านการต่อยอดแพลตฟอร์มในรูปแบบ “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” เต็มรูปแบบครั้งแรกของไทย ควบคู่ไปกับการจัดอีเว้นท์จริง เพื่อสร้างแรงดึงดูดและโอกาสการเข้าถึงของผู้คนในต่างประเทศมากขึ้น

พร้อมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจกว่าที่เคย โดยผู้เข้าชมงานสามารถสร้างกราฟฟิคแทนตัวบุคคลที่เรียกว่า “อวาตาร (Avatar)” และทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกเสมือนคู่ขนานไปกับโลกจริงทางกายภาพได้อย่างกลมกลืนจากทั่วทุกมุมโลก เรียกได้ว่าเป็นสะพานเชื่อมผู้คนในแวดวงนวัตกรรมจากทั่วโลกได้เข้ามาพบปะ เรียนรู้ และร่วมกันพัฒนาให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA จัดงาน SITE ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปีแรกของการจัดงาน SITE เป็นการรวมงานระหว่าง Startup Thailand กับ Innovation Thailand ซึ่งมาพร้อมกับโควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถจัดงานรูปแบบกายภาพหรือไฮบริดได้ ในปีแรกจึงเป็นการจัดงานแบบออนไลน์ 100% ซึ่ง NIA มีผู้ประกอบการสตาร์อัพที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดงานสัมมนา การทำการถ่ายทอดสด มาร์เก็ตเพลส ฯลฯ ผ่านแพลตฟอร์ม โดยมีการนำ AI เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลด้วย ในปีที่ 2 การจัดงานมีความโดดเด่นมากขึ้น มีการนำเทคนิคการตัดต่อ กราฟิกมาผสมผสาน ส่วนปีที่ 3 เมื่อโลกเกิดเมตาเวิร์ส ก็มีการเอาเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพที่เรากรูมเข้ามาใช้ ซึ่ง NIA ทำหน้าที่เหมือนเป็น Sandbox ให้กับสตาร์ทอัพตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับธีมงานในปีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก โดยวันแรกนำเสนอเรื่อง Global Innovation City หรือ เมืองนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยมีวิทยากรจากแต่ละเมืองมาร่วมให้ความรู้และนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคมที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ทำให้การช่วยเหลือ ‘ผู้คน’ กลายเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงตัวอย่างความสำเร็จของประเทศเพื่อนบ้านที่นำนวัตกรรมไปตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำในเมือง ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งการช่วยเหลือคนในระดับรากหญ้า การสร้างรายได้เศรษฐกิจใหม่ การวางแผนที่นำทาง (roadmap) เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และระบบกลไกในการผลักดันใหผู้คนใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับตัวเอง

“วันแรกเราได้ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาร่วมเสวนาบนเวทีเพื่อนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพฯ มีการพูดคุยถึงการทำนวัตกรรมทางสังคม และจะมีการพูดถึงการขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมร่วมกันกับกทม. นอกจาก กทม. แล้วยังมีวิทยากรท่านอื่นๆ มาเล่าเรื่องการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในเมืองไทย เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช ในวันแรกได้มีการพูดถึงเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากมีการเปิดเมืองด้วยการดึงนวัตกรเข้าไป แต่จะทำเรื่องธุรกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำเรื่องของสังคมด้วย ซึ่งนวัตกรรมทางสังคมจะเป็นตัวแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนจากเมืองสำคัญอื่นๆ ว่าพวกเขามีพื้นที่ทางนวัตกรรมอย่างไรบ้าง พูดได้ว่าโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้นวัตกรรมบางชนิดเติบโตขึ้น และวันแรกของการจัดงานได้มีอวาตารของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาร่วมเปิดงานซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีอวาตารคนแรกของไทย”

วันที่สองนำเสนอเรื่อง Innovation Thailand หรือการพัฒนาเมืองนวัตกรรมของไทย ที่มีเป้าหมายในการดึงภาคีต่างๆ เข้ามาร่วมพัฒนาให้ไทยเป็นชาตินวัตกรรมและเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการลงทุนของเหล่าสตาร์ทอัพ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมลำดับ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2030

“Innovation Thailand เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ งาน SITE เป็นการวมตัวกันของวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี องค์กร ทุกคนเป็นตัวแทนของระบบนวัตกรรมทั้งระบบทำให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ในวันที่ 2 จะมีการเชิญบริษัทขนาดใหญ่มาพูดคุยกันว่าบริษัทเหล่านี้ตอบสนองการเปิดเมืองอย่างไร การสร้างนวัตกรรมรูปแบบองค์กรเป็นอย่างไร และมีการเชิญทายาทธุรกิจมาสร้างแรงบันดาลใจ และมีส่วนสำคัญในการสร้างกำลังคนด้านนวัตกรรมในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการเชิญทูตจากประเทศอิสราเอล ฟินแลนด์ ฮังการี มาเสวนาเรื่องการทูตนวัตกรรม
ซึ่งวันนี้อิสราเอลเขามาเน้นการสร้างยูนิคอร์น ส่วนฟินแลนด์เขาเด่นเรื่องเทคโนโลยีด้านการศึกษาซึ่งเป็นการเตรียมคนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ส่วนฮังการีซึ่งเป็นประเทศที่ผ่านการเปลี่ยนแปลง มองว่าเขาจะพัฒนานวัตกรรมของเขาอย่างไร และทูตไทยจากสถานทูตไทยในต่างประเทศ 4 ประเทศ ทำงานร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและนวัตกรรมซึ่งไม่เคยมีการก่อน ซึ่งจะเห็นว่าการขับเคลื่อน Innovation Thailand มีทั้งองค์กรขนาดใหญ่ คนรุ่นใหม่ และหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม”

สำหรับ ‘เทคโนโลยีเชิงลึก’ หรือ Deeptech ยังเป็นโอกาสและการลงทุนที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเทคโนโลยีเชิงลึกจะกลายเป็นรากฐานของเศรษฐกิจในอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ยังมีมิติด้านการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพจาก Angel Investor และ VC ที่มองว่านอกจากสตาร์ทอัพที่พัฒนาเรื่อง Web 3.0 จะเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจหลังโควิดแล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตและสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหาร เกษตร สุขภาพและเวลเนส ท่องเที่ยว ไฟแนนซ์ โบโอเทคโนโลยี รวมถึงฟินเทคที่ไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งในธุรกิจนี้แล้วระดับหนึ่ง

และวันสุดท้ายนำเสนอเกี่ยวกับ Metaverse ซึ่งคือเทคโนโลยีโลกเสมือนที่มีศักยภาพ เข้ามาช่วยตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน สร้างความเท่าเทียม ทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทดสอบ (sandbox) ในการสร้างแบบจำลอง ทดลอง ในหลากหลายวงการ เช่น การศึกษา ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายยังทำให้เห็นภาพของการวิจัยต่างๆ และชิ้นงานที่ชัดเจนขึ้น สำหรับการแพทย์ จะช่วยฝึกทักษะยากให้เกิดความแม่นยำก่อนลงมือจริง ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเมตาเวิร์สเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ในการสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ ซึ่งมีกลุ่มนักลงทุนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ เราจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อที่จะไม่ได้ตกขบวนและเสียโอกาสนี้ไป

“แค่ครึ่งปีนี้มีคนทำเรื่องเมตาเวิร์สแทบทุกสัปดาห์ โดยภาพรวมของเมตาเวิร์สยังใหม่อยู่ และคนมักจะมองเมตาเวิร์สเหมือนมองก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือน้ำ คือ การซื้อที่ดินในโลกดิจิทัล การทำงานร่วมกันกับ web 3.0 และการปฏิสัมพันธ์กับโลกนั้น และการลงทุน ซึ่งไม่ใช่แค่การมีอสังอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลอย่างเดียว แต่มันคือการสร้าง lifestyle สร้างคุณค่าใหม่ การมี art appreciation มี ownership และการเข้าไปสู่ digital currency มันคือการเปลี่ยน mindset จากโลกกายภาพไปเป็นอีกโลกหนึ่ง เพราะคุณอาจมี character อีกแบบหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอีกแบบหนึ่ง…มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง มันคือการเปลี่ยน mindset จากโลกกายภาพไปเป็นอีกโลกหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนแล้วจะทำให้มูลค่าหรือคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้”

“สำหรับแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สของ SITE2022 ปีนี้มีคนเข้าร่วมจนถึงวันนี้ 5 พันคนแล้ว และ 3 พันจาก 5 พันคนนั้นมี digital wallet ทำให้เห็นว่าคนที่เข้าไปก็เริ่มมีกิจกรรม มีแนวความคิดและการใช้ชีวิตในโลกเมตาเวิร์สแล้ว”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุปว่า สำหรับยอดการเข้าชมงานในช่วง 2-3 ปีนี้ ไม่ได้เน้นการนับยอดผู้ที่เดินเข้างานเหมือนนอดีต แต่มองในเรื่อง Engagement ซึ่งตลอด 3 วันของการจัดงานมีเข้าชมงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของ NIA, Startup Thailand และ Innovation Thailand อย่างล้นหลามกว่า 1.9 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับหน่วยงานราชการ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งทางเว็บไซต์และโลกเมตาเวิร์สมากกว่า 6,000 คน เกิดการรับรู้ของนานาชาติมากกว่า 10 ประเทศกับคลังความรู้ด้านการพัฒนาเมืองนวัตกรรมและการเปิดพื้นที่นวัตกรรมให้เกิดการเชื่อมต่อกันทั้งระดับประเทศและระดับโลกในเวทีฟอรั่มรวม 35 หัวข้อ

โดยสุดยอดสตาร์ทอัพและนวัตกรชั้นนำของเมืองไทย และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศกว่า 70 ท่าน ที่มาร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์สามารถเข้าชมย้อนหลังผ่านทางยูทูปของ NIA มีบูธนำเสนอผลงานและบริการจากสตาร์ทอัพ นวัตกร พันธมิตรนวัตกรรมไทยในเมตาเวิร์สมากกว่า 100 บูธ มี 30 เมนทอร์ที่มีชื่อเสียงจากหลายหลายวงการมาร่วมงาน มีกลุ่มนักลงทุนมากกว่า 20 รายและสตาร์ทอัพมากกว่า 50 ราย ที่นอกจากจะมาเจอกัน อัพเดทเทรนด์และความก้าวหน้าใหม่ๆ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้ว แต่ละส่วนยังมีโอกาสได้พบปะเจรจาธุรกิจกันในงานเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จสูงสุดของงาน ที่ได้เชื่อมทุกคนมาเจอกันในเมืองนวัตกรรมเสมือนจริงแห่งนี้

กิจกรรมทั้งหมดในงาน SITE 2022 ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนของไทยในการร่วมกันสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความพร้อมทางนวัตกรรมของไทยในอุตสาหกรรมและพื้นที่ต่างๆ ที่สามารถพัฒนาเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมอื่นๆ ของโลกได้อย่างแท้จริง ทาง NIA เชื่อมั่นว่าการเริ่มต้นเชื่อมเมืองนวัตกรรมไทยอีกครั้ง หลังจากงาน SITE 2022 เราจะได้เห็นการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลากหลายสาขามากขึ้น เพิ่มเติมจากที่ไทยนับว่ามีความโดดเด่นในการเป็นย่านนวัตกรรมในหลายอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ทั้งด้านอาหาร การบิน เทคโนโลยีและบริการต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งผลสำเร็จที่มีส่วนส่งเสริมให้ไทยมีระบบนิเวศเหมาะกับการลงทุนด้านนวัตกรรมยิ่งขึ้นด้วย สำหรับทิศทางต่อไปของ SITE คือ การผลักดันให้เกิด พรบ.สตาร์ทอัพซึ่งเป็น 1 ใน 10 พรบ.ปฎิรูปประเทศ บทบาทของภาครัฐที่จะเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ และส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีเชิงลึกให้มากขึ้น
“สำหรับการงานในปีหน้าจะไม่ใช่ไฮบริดแล้ว แต่สิ่งที่เราทำมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นอินเทลลิเจนซิสเต็ม เมตาเวิร์ส ไมซ์อินโนเวชชั่น จะกลายเป็นนิวนอร์มอล ของการจัดสัมมนาหรือการทำอีเวนท์แล้ว ทั้ง 3 เรื่องนี้จะขาดไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้งานดูว้าว”

งาน SITE ไม่ใช่เพียงแค่อีเว้นท์ประจำปีที่เราต้องการให้ผู้คนในแวดวงสตาร์ทอัพและนวัตกรรมได้มาพบปะ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านต่างๆ ตลอดจนสร้างเครือข่าย ต่อยอดธุรกิจเท่านั้น และเมืองนวัตกรรมเสมือนจริงที่เราสร้างขึ้นมาก็จะไม่จบลงเพียงเท่านี้ แต่จะกลายเป็นพื้นที่โลก Metaverse ของสตาร์ทอัพ องค์กรที่ทำนวัตกรรมของไทย และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของไทยให้เข้มแข็งและพร้อมก้าวไปสู่การเป็นชาตินวัตกรรมต่อไป และเมื่อหลายประเทศทั่วโลกพร้อมเดินหน้าเปิดประเทศ เราจะกลับมาพบกันอีกครั้งในรูปแบบอีเว้นท์จริงที่ยิ่งใหญ่ กับงาน Startup x Innovation Thailand 2023 ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) พร้อมขอเชิญชวนทุกคนเตรียมเปิดโลกใบใหม่และร่วมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน