ในธรรมชาติอันกว้างใหญ่ สัตว์ป่านับเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เติมเต็มความงดงามและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้โลกใบนี้ ซึ่งเรื่องราวสรรพชีวิตในป่านั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนและหลากหลาย หากใครสักคนต้องการบันทึกภาพ “คู่” ของสัตว์ป่านั้นคงจะไม่ได้มาโดยง่าย เพราะต้องอาศัยการจับภาพในจังหวะที่สัตว์ป่าสองตัวอยู่ด้วยกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างสมบูรณ์ที่สุด

เล่ามาถึงตรงนี้ อยากชวนทุกคนร่วมชื่นชมกับ 8 ภาพคู่ของสัตว์ป่าที่หาชมได้ยาก ที่คัดสรรมาจากโครงการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างสรรค์และดำเนินโครงการโดยทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นโครงการจัดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เพราะอยากให้คนไทยได้สัมผัสความงามของธรรมชาติ และเกิดความรัก ความหวงแหน ตระหนักถึงคุณค่า และร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้อันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป
ทุกภาพที่คัดสรรมานั้นล้วนเป็นภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลจากโครงการฯ เมื่อปี 2566 ที่แสดงถึงคู่ความสัมพันธ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ความสัมพันธ์แบบคู่รัก แม่ลูก เพื่อนมิตร คู่แข่ง ห่วงโซ่อาหาร ไปจนถึงการลอกคราบจากชีวิตเดิมสู่ชีวิตใหม่
เบื้องหลังการจับภาพที่แสนยากเหล่านี้ อาจมาจากการอดทนรอคอยหรือความบังเอิญ แต่เชื่อว่าทุกจังหวะล้วนต้องอาศัยจินตนาการ รวมถึงมุมมองที่เฉียบคมของช่างภาพทั้งสิ้น โดยแต่ละภาพจะมีคำบรรยายของช่างภาพไว้ เพื่อให้ได้สัมผัสถึงแรงบันดาลใจและเหตุการณ์ขณะบันทึกภาพไปพร้อมกัน
และนอกเหนือจากการถ่ายทอดความงดงามของสัตว์ป่าแล้ว ภาพเหล่านี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของสัตว์ป่าที่มีชีวิต ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่แตกต่าง หลากหลายไม่ต่างไปจากมนุษย์เช่นกัน
 
1. เดินพร้อมเพรียง (นกกระแตผีชายหาด)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
 
รางวัลยอดเยี่ยม : ภาพนก ระดับบุคคลทั่วไป
นายรณยุทธ ศรีบัญยธานนท์
‘ในจังหวะที่นกกระแตผีชายหาดเดินคู่กันจากบนชายหาดลงไปใกล้น้ำทะเล ก็พยายามถ่ายต่อเนื่องเพื่อจะได้จังหวะที่ดี ผลออกมาได้จังหวะเหมือนเขาทั้งสองตัวกำลังเดินสวนสนาม’
2. อบอุ่น (นกกะรางหัวขวาน)
บางพระ จ.ชลบุรี
รางวัลดีเลิศ : ภาพนก ระดับบุคคลทั่วไป
นายสุชาติ จันลี
‘นกกะรางหัวขวาน เป็นนกที่พบอยู่ทั่วไปในเขตเมือง จะเลือกทำรังในโพรงไม้เพื่อป้องกันสัตว์นักล่า พ่อแม่นกจะคอยเฝ้าดูแลปกป้องและหาอาหารมาป้อน เมื่อแสงในยามเย็นที่เป็นแสงสีส้มส่องผ่านขนของพ่อแม่นก ก็จะดูอบอุ่นเหมือนความห่วงใยของพ่อแม่ที่มีต่อลูก’
3. หนึ่งมิตรชิดใกล้ (เสือดาว, เสือดำ)
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
 
รางวัลยอดเยี่ยม : ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ระดับบุคคลทั่วไป
นายสุรพล สุปรัชญา
‘นั่งอยู่ในรถเพลินๆ ก็ต้องสะดุ้ง เมื่อได้ยินเสียงคนในรถร้องขึ้นว่าเสือ มองออกไปทางหน้าต่างก็เห็นเสือดาวนั่งอยู่กับเสือดำ ผมไม่มีเวลาปรับแต่งกล้องจึงรีบถ่ายภาพไปก่อน หลังจากคิดว่าได้ภาพแล้ว จึงลดกล้องลงแล้วปรับแต่งก่อนถ่ายภาพต่อ ซึ่งผมถ่ายภาพมาทั้งหมด 52 ภาพ แต่มีเพียงภาพนี้เท่านั้นที่ถ่ายได้ในขณะที่เสือทั้งสองตัวมองกล้องอยู่’
4. คู่รัก (สมเสร็จ)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
 
รางวัลดีเด่น : ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ระดับบุคคลทั่วไป
นายบรรพต วงศ์ศรีกุล
‘การได้พบสมเสร็จในธรรมชาติเป็นเรื่องน่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสมเสร็จเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน มีจำนวนน้อย และระมัดระวังตัวสูง ในภาพเป็นสมเสร็จตัวผู้และตัวเมีย แสดงถึงขนาดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตัวเมียที่ตัวใหญ่กว่าเดินนำหน้า และตัวผู้เดินตามหลัง แสดงให้เห็นความสมบูรณ์และความสำคัญของห้วยขาแข้งและผืนป่า’
5. ศึกชนช้าง (ช้างป่า)
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
รางวัลเกียรติยศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2566
และรางวัลยอดเยี่ยม : พฤติกรรมสัตว์ป่า ระดับบุคคลทั่วไป
นายธีรพงศ์ เพ็ชร์รัตน์
‘เช้าวันหยุด ผมพาครอบครัวขึ้นเขาแต่เช้าเพื่อที่จะไปสัมผัสบรรยากาศดีๆ จากนั้นเจอต้นไม้ล้มขวางถนน จึงจอดรถชิดริมทาง เมื่อเจ้าหน้าที่มาตัดต้นไม้เปิดเส้นทาง ผมจอดรถรอสัพักก็ได้เจอกับฉากอันน่าตื่นเต้นที่จำได้ไม่มีวันลืม’
6. Spaghetti for Lunch (เต่าตนุ)
เกาะโลซิน จ.ปัตตานี
 
 
รางวัลยอดเยี่ยม : ภาพสัตว์มีค่า ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
เด็กชายติณห์ภัทร เนตรจรัสแสง  
โรงเรียนเซนต์แอนดรูส์อินเตอร์เนชันแนล กรุงเทพฯ
‘เต่าตนุกำลังมีความสุขกับการรับประทานอาหารสุดโปรดของมัน คือ แมงกะพรุน’
7. พ่ายแพ้ (กวางป่า)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ
รางวัลดีเลิศ : ภาพสัตว์มีค่า ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
นายธรรมบุญ อุยยานนวาระ 
โรงเรียนรุ่งอรุณ
‘หลังจากการต่อสู้ที่แย่งชิงจ่าฝูงอันยาวนาน ก็มีผู้รู้ตัวว่าแพ้วิ่งหนีออกมา ผู้ชนะวิ่งไล่ให้ถึงที่สุด วิ่งจนกว่าจะหนีออกจากโซนทุ่งหญ้าเข้าป่าไป ผมได้เฝ้ามองเหตุการณ์น่าระทึกใจนี้และบันทึกภาพมาอย่างใจเย็นครับ’
8. เงาะถอดรูป (จักจั่นแดง)
จ.เชียงราย
 
รางวัลดีเด่น : ภาพสัตว์อื่นๆ ระดับบุคคลทั่วไป
นายวราพจน์ เทียมศิริ
‘จักจั่นแดงหายากมากๆ ช่วงเวลาเข้าฤดูฝนจะเริ่มถอดคราบบินสู่โลกกว้าง ต้องรอถ่ายช่วงเช้าตรู่เท่านั้น’
________
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างสรรค์และดำเนินโครงการโดยทรูปลูกปัญญา ขอเชิญชวนคนไทยหัวใจรักธรรมชาติ ส่งภาพถ่ายสัตว์ป่าและป่าไม้เมืองไทย เข้าร่วมประกวดกับโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ครั้งที่ 30 ประจำปี 2567
เปิดรับภาพตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2567
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.trueplookpanya.com/event/photocontest/login
โทร. 02-858-6279 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’