ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าแถลงผลงานพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 18 ตำบล ในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” “U2T” สร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน ปีหน้าดัน Market place ในมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจ้างงาน ได้แถลงผลงานพัฒนาท้องถิ่น จ.พระนครศรีอยุธยา ตลอด 1 ปี ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ” ให้แก่ นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธี พร้อมคณะผู้บริหารส่วนราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับทราบ
มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสถาบันที่มุ่งมั่น และมีนโยบายในการ ทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยในปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ให้ตรงตามเป้าหมายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเริ่มลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบทั้งหมดทุกพื้นที่กว่า 48 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี 16 ตำบล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 18 ตำบล และจังหวัดสระแก้ว 14 ตำบล
การจัดงานในวันนี้ มีการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล
แบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ : U2T) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 18 ตำบล ซึ่งภายในห้องประชุมได้จัดจุดแสดงผลงานการนำเสนอที่มีอาจารย์ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการตำบลนั้น ๆ รวมกับผู้ถูกจ้างงานซึ่งอยู่ในโครงการการจ้างงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม คอยให้ข้อมูล และนำเสนอผลงานที่น่าสนใจที่ทางมหาวิทยาลัยได้เข้าไปพัฒนาในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ และชุมชนได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งการจัดแสดงผลงานของมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ดีที่ ทางจังหวัดอยุธยา และหน่วยงานส่วนราชการทุกแขนง ได้รับรู้ผลการดำเนินงาน และจะได้บูรณาการภาคีเครือข่ายร่วมมือกันในการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต เพื่อให้ประชาชนในชุมชน ได้รับผลประโยชน์ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
“ปีนี้ โครงการ U2T มี 3 จังหวัด ทั้ง ปทุมธานี 16 ตำบล จ.สระแก้ว 14 ตำบล และปิดท้ายที่ จ.อยุธยา มี 18 ตำบล โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของอยุธยาอยู่ในอำเภอบางไทร เป็นพื้นที่ชนบทและเป็นทุ่งนา ซึ่งการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเกิดให้ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ประชาชนในพื้นที่ได้นำองค์ความรู้ไปเพื่อพัฒนาชุมชนของตัวเอง เช่น ในเรื่องการเกษตร ปรับปรุงดิน ปรับปรุงปุ๋ย หาวิธีที่จะช่วยเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร ตามด้วยแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการออกแบบบรรจุผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ รวมถึงเรื่องการทำตลาดออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีความสำคัญอย่างมาก วัตถุประสงค์ที่สร้างโครงการนี้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถ เรียนรู้และนำไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง ซึ่งเป็นราโชบายของในหลวง ร.10 ที่อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฎ พัฒนาท้องถิ่นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย”
“ส่วนในช่วงกลางปีหน้ามหาวิทยาลัยจะสร้าง Market place ในมหาวิทยาลัย ใช้พื้นที่ 20-30 ไร่ โดยทางมหาวิทยาลัยมีร้านค้าและนำสินค้าในชุมชนมาวางจำหน่าย แล้วก็มีการจัดไลฟ์สดขายของ โดยใช้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามาใช้ ตอนนี้มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมสตูดิโอ และอาคารไว้รองรับ เพื่อจะทำให้เป็น VRU Modern Place”
นอกจากโครงการ “U2T” ที่จะยังดำเนินต่อไป มหาวิทยาลัยยังมีจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้นในตำบลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน โดยปีหน้าจับมือกับกรมพัฒนาชุมชน จะจัดโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโคกหนองนา ในพื้นที่ 20 ไร่ เป็นตัวอย่างให้ชุมชน รวมถึงโครงการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนเครือข่าย ประมาณ 30 โรงเรียน เพื่อให้ครูไปปรับใช้ในการเรียนการสอนให้ทั่วถึงคนในชุมชนอีกด้วย
Recent Comments