สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act: Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient Cities)” ในประเทศไทย

โดยมี นายโยฮันเนส แคร์เนอร์ ที่ปรึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย และ ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตุนิยมวิทยา ในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการฯ ในประเทศไทย รวมทั้ง คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) หน่วยงานร่วมดำเนินโครงการระดับภูมิภาค ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวง มหาดไทย หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงนักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้องอีเทอร์นิตี้บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศหลากหลายระดับ ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ (NDCs) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย สำหรับหน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย GIZ ESCAP UCLG ASPAC มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี ตลอดจนหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการฯ ในแต่ละประเทศพันธมิตรทั้ง 5 ประเทศ โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาเปิดงาน เน้นย้ำว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จึงถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเมืองและขับเคลื่อนความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตั้งรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงาน SDG 9, 11 และ 13

“วันนี้ที่สำคัญที่สุด องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและได้ริเริ่มโครงการเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อพัฒนาเมืองแบบองค์รวม เพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมขานรับและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย มีภารกิจโดยตรงในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินงานในภาคเมืองและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ดังนั้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเมืองให้มีการพัฒนาที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ผมเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานร่วมกันในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และจะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเมืองระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง” นายชำนาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติม

นายโยฮันเนส แคร์เนอร์ ที่ปรึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้มีการเน้นย้ำไว้ว่าเมืองต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงเมืองไปสู่ความยั่งยืนและการใส่ใจต่อสภาพภูมิอากาศ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และลดผลกระทบให้กับชุมชนที่มีรายได้น้อยได้ ดังนั้น เราต้องการเมืองที่มีความกระตือรือร้นเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุเป้าหมายนั้น เมืองต่างๆ ไม่สามารถที่จะแยกกันดำเนินการได้โดยลำพัง โดยประเทศเยอรมนีได้ตระหนักและให้ความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก ดังนั้น เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้ริเริ่มและผู้สนับสนุนโครงการ Urban-Act ในภูมิภาค ผ่านแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)

ด้าน นายไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ กล่าวว่า โครงการฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย และเราตระหนักดีว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ด้วยมีพันธกิจ และอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศครอบคลุมทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการแนวดิ่ง และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศหลายระดับ ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยโครงการ Urban-Act มุ่งเน้นการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในเมืองในระดับชาติ และสนับสนุนให้มีการบูรณาการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการพัฒนาเมืองในระดับท้องถิ่น โดยมีเชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง

“นอกจากนี้ เรายังดำเนินงานแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT – GT) ในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่เขตเมืองที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ และการระบุแนวคิดโครงการที่เป็นรูปธรรมและมีความเป็นไปได้เพื่อเพิ่มโอกาสการรับเงินทุนและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ โดยเรามีความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินงานกับหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันคือหัวใจในการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความมุ่งมั่นของเราในการจัดหาองค์ความรู้และเทคนิคเชิงลึกที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะต่างเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่ท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายไฮน์ริช กล่าวเพิ่มเติม

ภายในงานยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “พลิกโฉมเมืองไทย สู่เมืองคาร์บอนต่ำ และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Transforming Thai urbanisation to Low – carbon and Climate resilient Development)” โดยผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตุนิยมวิทยา และการเสวนาเรื่อง “มุมมองการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ในระดับภูมิภาค (Sustainable urban development from global perspective to local action)” โดย ESCAP และ UCLG ASPAC

ทั้งนี้ โครงการ Urban – Act ยังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง ภายใต้โครงการ Urban-Act” นำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมวิจัยร่วมดำเนินโครงการ เพื่อร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานและสร้างเครือข่ายระหว่างเมือง โดยมีผู้แทนจากเมืองนำร่องของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต และเทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองนำร่องภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT) เข้าร่วมกิจกรรม แบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึก นำมาซึ่งการเสริมความแข็งแกร่งให้การดำเนินโครงการฯ ร่วมกันมากยิ่งขึ้น