ข่าวดีสำหรับผู้ชื่นชอบการออกแบบ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ประกาศจัดกิจกรรม ASA Experimental Design Competition เชิญชวนนักออกแบบ ทั้งมืออาชีพ สมัครเล่น นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป ส่งผลงานประกวดแบบแนวความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความรู้สึกของผู้คนกับเมืองผ่านคำจำกัดความ “สัมผัส” โดยใช้กรุงเทพฯเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาความเหมือนที่แตกต่าง ชิงเงินรางวัลรวมเกือบสามแสนบาท พร้อมได้ร่วมแสดงผลงานผ่านนิทรรศการภายในงานสถาปนิก’67 ผู้สนใจลงทะเบียนประกวดแบบ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และส่งผลงานทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยจะประกาศรางวัลผู้ชนะ วันที่ 5 พฤษภาคม ศกนี้
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงกิจกรรมพิเศษสนับสนุน การจัดงานสถาปนิก’67 งานใหญ่ประจำปีของวงการสถาปนิก นักออกแบบ และผู้สนใจสินค้าบริการ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม งานก่อสร้างครบวงจร ซึ่งปีนี้กำหนด จัดงานระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารซาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยวางแนวคิดจัดงานภายใต้ธีม ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้คนจากทั่วโลก ได้สัมผัสและเข้าใจงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ไร้ขอบเขต เช่นเดียวกับภาษาที่มีหลากหลาย
เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบครบถ้วน ทางสมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมพิเศษ ASA Experimental Design Competition เชิญชวนนักออกแบบ ทั้งมืออาชีพ สมัครเล่น นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป ร่วมส่งผลงานประกวดแบบแนวทางความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความรู้สึกของผู้คนกับเมืองผ่านคำจำกัดความว่า “สัมผัส” สะท้อนการออกแบบที่ไม่จำกัดพื้นที่และขนาด โดยใช้กรุงเทพเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาความเหมือนที่แตกต่าง ถ่ายทอดออกมาผ่านการสัมผัสการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในสภาพแวตล้อมต่างๆ ในสังคม เช่น อัตลักษณ์ของตัวเมือง วิถีชีวิตของผู้คน และงานสถาปัตยกรรม
“การดำเนินชีวิตของผู้คนบนทางเดินบนฟุตบาท รถบนท้องถนน กลิ่นของอาหารข้างทาง เสียงบนทางสัญจร ความเชื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นสัมผัสที่นุษย์ได้พบเจอในชีวิตประจำวัน กรุงเทพเป็นหนึ่งในเมืองที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนเหล่านี้ออกมาผ่านการสัมผัสได้จากการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การดมกลิ่น และการรับรส อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ทำให้เมืองมีสีสันและมีชีวิตชีวา แต่เมื่อสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่พาตัวเองไปผูกไว้กับโลกดิจิทัลมากขึ้น สังคมที่บีบบังคับให้ต้องกระตือรือร้นตลอดเวลา ความวุ่นวาย ความเร่งรีบก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ เช่น Metaverse และ AI ในอนาตอันใกล้การใช้ชีวิตในเมืองจะเป็นอย่างไรและจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึก” หรือ “สัมผัส” ของมนุษย์ในทางไหนบ้าง”
การประกวดแบบในครั้งนี้ นิยามความเข้าใจและการนำเสนอแบบทางสมาคมฯ ได้วางข้อกำหนดการส่งผลงานประกวด ต้องมีเนื้อหาครอบคลุมดังต่อไปนี้ 1.) ผู้เข้าร่วมแข่งขันสามารถเลือกสถานที่ที่เฉพาะตัวแบบใดก็ได้ เป็นบริบทในการออกแบบ โดยหัวข้อและขอบเขตการแข่งขันสามารถเป็นงานสถาปัตยกรรม ออกแบบผังเมือง ออกแบบภายใน หรือ งานออกแบบกลไกงานระบบ 2.) หลังจากที่ระบุบริบทแล้ว ให้ระบุแนวความคิดของภาพ, การวิเคราะห์, รูปตัด, แผนผัง, ภาพแบบจำลองหรือทัศนียภาพในขนาดใดก็ได้ ที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการออกแบบสามารถตอบสนองต่อ “สัมผัส” ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี
โดยเกณฑ์การตัดสินหลักของคณะกรรมการ พิจารณาจาก 1.) ความคิดสร้างสรค์ (40%) : ความสามารถในการสร้างไอเดียที่น่าสนใจและสดใหม่ 2.) ความเกี่ยวข้องและความน่าสนใจในการตีความโจทย์ (30%) : การนำเสนอไอเดียใหม่ของคำนิยามว่า “สัมผัส” รวมถึงการเล่าเรื่องให้มีมิติและความน่าสนใจ 3.) การสี่อสารที่ชัดเจน (30%) : ความชัดเจนในการนำเสนอแนวความคิด (เทคนิคการนำเสนอจะไม่ถูกพิจารณาในเกณฑ์การตัดสิน) ทั้งนี้ เปิดรับสมัครผลงานจากทั้งนักศึกษา, สถาปนิก, นักวางแผนผังเมือง, นักออกแบบ, ศิลปินและนักคิดวิเคราะห์ โดยสามารถ
ส่งผลงานเป็นรายบุคคลหรือทีม และไม่มีข้อกำจัดทางอายุ, เพศ หรือสัญชาติ รวมถึงไม่มีข้อจำกัดจำนวนผลงานที่ส่ง แต่ผลงานจะต้องไม่ถูกเผยแพร่จากที่ใดมาก่อน และผลงานที่ส่งเข้ามาจะต้องไม่ใช่ผลงานที่ถูกสร้างขึ้น หรือเป็นโครงการที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมส่งผลงานต้องมีสิทธิ์ทางกฎหมายและลิขสิทธิ์ทุกรายการที่ส่งเข้าแข่งขัน หากโครงการมีวัสดุหรือองค์ประกอบใด ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ผลงานนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ และหากสืบทราบว่ามีการละเมิดสิทธิ์รางวัลจะถูกยกเลิก
สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าประกวด ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเริ่มส่งผลงานการประกวดผ่านทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ หมดเขตการส่งผลงานวันที่ 12 เมษายน 2567 โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานรอบแรก วันที่ 15-16 เมษายน 2567 คัดเลือกผลงานรอบที่สอง วันที่ 23-26 เมษายน 2567 และวันที่ 28 เมษายน 2567 จะประกาศผลงานที่ได้รับการคัดเลือกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการงานสถาปนิก’67 ก่อนจะประกาศผลงานที่ได้รับรางวัลและมอบรางวัลกันในวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 (วันสุดท้ายของงานสถาปนิก’67) ผู้สมัครประกวดสามารถลงทะเบียนและติตตามข้อมูลผ่านทาง www.asacompetition.com
สำหรับรางวัลของผู้ชนะการประกวดในกลุ่มทั่วไป รางวัลที่หนึ่ง รับเงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลที่สอง 50,000 บาท รางวัลที่สาม 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 3 รางวัล รับประกาศนียบัตร ส่วนในกลุ่มนักเรียน ผู้ชนะรางวัลที่หนึ่ง รับเงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลที่สอง 30,000 บาท รางวัลที่สาม 20,000 บาท รางวัสชมเชย 3 รางวัล รับประกาศนียบัตร อย่างไรก็ตาม กิจกรรมประกวดแบบ ASA Experimental Design Competition ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมน่าสนใจ เปิดโอกาสให้นักออกแบบได้ร่วมสำรวจและค้นหาวิธีการสร้างสรรค์ ที่ตอบสนอง “ความรู้สึก” ในชีวิตของสังคมเมืองในปัจจุบัน เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี มีนักออกแบบส่งผลงานประกวดจำนวนมาก
สุดท้ายนี้ อยากเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมติดตามชมและเป็นกำลังใจให้ทุกผลงานประกวดแบบที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งจะนำมาจัดแสดงให้ชมภายในโซนนิทรรศการงานสถาปนิก’67 มาลุ้นมาเชียร์ผลงานประกวดแบบสะท้อนความหมาย บ่งบอกความรู้สึกของผู้คนกับเมืองผ่านคำจำกัดความ “สัมผัส” ที่คว้ารางวัสชนะเลิศ และรางวัลอื่นๆ พร้อมกัน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
Recent Comments