นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นำคณะผู้บริหารของกระทรวงดีอีเอส บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดินของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคม สามารถรองรับแนวทางการบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน หรือ Lastmile Sharing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า ตามแผนการเตรียมพร้อมปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สนองนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล กระทรวงดีอีเอส ได้เสนอให้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ที่จังหวัดกระบี่  ได้พิจารณา การลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม จะมีส่วนสำคัญทำให้ประเทศสามารถก้าวสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ และสามารถบริหารจัดการให้เกิดความทั่วถึงได้เป็นอย่างดี

ซึ่งจากการลงพื้นที่ จังหวัดกระบี่ กระทรวงฯ ได้พิจารณาในภาพรวมของจังหวัดท่องเที่ยวทางแถบฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต ระนอง กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล แล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ เห็นควรเสนอให้มีการบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกันในการวางโครงข่ายปลายทาง (Lastmile Sharing) ไม่ว่าจะเป็น เสา สายโครงข่ายโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่อร้อยสายใต้ดิน เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคมที่สำคัญนั้น ซึ่งมีข้อดีในการจะช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และเสนอให้มีข้อสั่งการในความร่วมมือจากผู้ประกอบการเอกชนทุกรายที่จะมีการลงทุนเองให้มีการบูรณาการใช้ท่อร่วมกับ NT ในการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดิน ซึ่งจะเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ลดการลงทุนซ้ำซ้อน เพื่อจะได้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มเกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปลูกต้นไม้ได้ตลอดทางเท้า รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและประเทศชาติ ด้านประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการมีงานทำมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความปลอดภัยจากไฟไหม้สายไฟฟ้า/สายสื่อสาร ตลอดจนลดอันตรายจากสายเกี่ยวผู้ที่สัญจร

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า NT มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น เสาโทรคมนาคม สายสื่อสาร คลื่นความถี่ และท่อร้อยสายใต้ดิน ซึ่งปัจจุบัน NT มีความพร้อมสูงสุดที่จะให้บริการแก่ผู้ประกอบการทุกราย ขณะเดียวกัน NT ก็ได้มีโครงการขยายความครอบคุลมไปทุกพื้นที่เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการบริการสื่อสารโทรคมนาคมของประชาชนอย่างเท่าเทียม ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

 

ด้วยศักยภาพของท่อร้อยสายใต้ดินที่ NT มีอยู่กว่า 4,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ และยังมีโครงการที่จะขยายพื้นที่ท่อร้อยสายใต้ดินให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา NT ได้ให้บริการนำสายสื่อสารของผู้ประกอบการหลายรายลงใต้ดินแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ และในอีกหลายเมืองใหญ่ ดังนั้น NT มีความพร้อมที่จะบูรณาการทรัพยากรด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชน

นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานโครงสร้างพื้นฐาน NT กล่าวว่า ปัจจุบันการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล (ประเภท ท่อ เสา สายโทรคมนาคม) ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยว อาทิ จังหวัดภูเก็ต ระนอง กระบี่ ตรัง พังงา สุราษฎร์ธานี สงขลา และ สตูล

โดย NT ได้ก่อสร้างท่อร้อยสายและได้มีการนำสายสื่อสารลงดินเรียบร้อยแล้วหลายจังหวัด และจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วในบางเส้นทาง และการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดิน พื้นที่เขตอนุรักษ์ย่านการค้าเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต ของเทศบาลนครภูเก็ต ทั้ง 7 เส้นทางนั้น มีแผนดำเนินการในปี 2565 โดยใช้งบประมาณของ NT เอง

โดยในส่วนของจังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต งานสร้างท่อร้อยสายรองรับการปรับภูมิทัศน์ ในถนนอุตรกิจ จังหวัดกระบี่  ถนนทวีวงศ์ ถนนบางลา และถนน 200 ปี ใน จังหวัดภูเก็ต และปัจจุบันกำลังดำเนินการตามแผนโครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้

นอกจากนั้น NT ยังได้ดำเนินโครงการปรับสภาพภูมิทัศน์เมืองสำคัญและเมืองท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย