วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นศาสนสถานที่มีสถาปัตยกรรมล้ำค่าของไทย มีเอกลักษณ์ในการออกแบบ และมีความงดงามจนเป็นที่ล่ำลือและกล่าวขานไปทั่วโลก และยังเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของ คนไทยทุกคนมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี จนถึงทุกวันนี้ โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจประกันและการเงิน ซึ่งมีความผูกพันกับพระอารามแห่งนี้ได้บำเพ็ญกุศลและมีส่วนร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานของวัดอรุณราชวราราม ในหลายส่วนจนแล้วเสร็จ อาทิ การบูรณะพระอุโบสถในปี 2560 รวมถึงการจัดทำชุดหนังสือ “อัศจรรย์วัดอรุณฯ” เพื่อเป็นสื่อสร้างองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปสถาปัตยกรรมภายในวัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มอบรายได้จากการจำหน่ายหนังสือถวายเข้ากองทุนเพื่อบูรณปฎิสังขรณ์ และสนับสนุนเงินบริจาคเพิ่มเติมเข้ากองทุนดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เล็งเห็นความสำคัญในความปลอดภัยและความสะดวกของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงประชาชนผู้สัญจรทางเรือ ที่มาเยี่ยมชมวัดอรุณราชวราราม จึงได้ให้การสนับสนุนการสร้างท่าเทียบเรือวัดอรุณราชวราราม เพื่อเป็นสาธารณกุศล และสาธารณประโยชน์ให้แก่ทางวัดและประชาชนขึ้น และในโอกาสนี้ นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร และนางอาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีส่งมอบท่าเทียบเรือวัดอรุณราชวรารามขึ้น โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
สำหรับกระบวนการออกแบบ เน้นการทำงานที่ละเอียดรอบคอบ และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้คำนึงถึงสุนทรียภาพและบริบทแวดล้อม ที่สามารถส่งเสริมทัศนียภาพบริเวณริมน้ำให้เหมาะสม สวยงาม ส่งเสริมให้พระปรางค์มีความโดดเด่นเป็นที่ประทับใจต่อผู้สัญจรและมาเยี่ยมเยือนวัดอรุณฯ สำหรับการใช้สี ได้เลือกสีเขียวเพื่อให้เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ของพระอินทร์ผู้เป็นหลักของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมขององค์ปรางค์วัดอรุณฯ รวมไปถึงราวกันตก ได้ใช้แบบอย่างลวดลายดอกพุดตาน ศิลปกรรมที่เป็นประเพณีนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นลวดลายหลักที่ใช้ประกอบงานปราณีตศิลป์ในพระอารามแห่งนี้
นอกจากนี้ ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอื่น ๆ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม นอกจากการบูรณปฎิสังขรณ์ศาสนสถานของวัดอรุณราชวรารามแล้วนั้น การสร้าง ท่าเทียบเรือแห่งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางทางเรือ แต่ยังเป็นพื้นที่เพื่อร่วมสืบสานประเพณีไทยที่จัดขึ้นภายในวัด อาทิ ประเพณีสงกรานต์ และประเพณีลอยกระทง ซึ่งไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานดังกล่าวมาโดยตลอด และในปีนี้ บริษัทฯ มีความยินดีที่การเปิดท่าเทียบเรือแห่งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่องาน Bangkok River Festival ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2565 โดยมีวัดอรุณราชวรารามเป็นหนึ่งใน 10 สถานที่ริมแม่น้ำที่เข้าร่วมโครงการ
รายละเอียดของชุดหนังสือ “อัศจรรย์วัดอรุณ” จำนวน 4 เล่ม
บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้นำรูปแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ มาปรับใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำบริษัท เพื่อสื่อถึงความเจริญที่มั่นคงอย่างไม่สิ้นสุด และด้วยความผูกพันที่มีต่อตราสัญลักษณ์นี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คณะผู้บริหารบริษัทฯ ได้จัดทำชุดหนังสือ(อัศจรรย์วัดอรุณ) จำนวน 4 เล่มขึ้น โดยใช้เวลา10 ปีในการค้นคว้าและเรียบเรียงโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นเอกสารทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมไทยชุดแรก ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้ดังกล่าวไว้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในการอนุรักษ์รักษามรดกสำคัญของชาติ และประโยชน์ทางการศึกษา ประกอบด้วย
หนังสือเล่มที่ 1 “พัฒนาการพระปรางค์ในสยามประเทศ”
“พระปรางค์” เป็นคำที่ใช้เรียกอาคารทรงสูงที่ตั้งอยู่ตรงกลางศาสนสถานของฮินดูหรือพุทธสถานในศาสนาพุทธ ดังนั้น พระปรางค์จึงใช้เป็นที่ประดิษฐานเทพต่าง ๆ ของฮินดูหรือพระพุทธรูป หนังสือเล่มนี้จะเผยให้เห็นถึงความหลากหลายของแนวคิดตลอด 14 ศตวรรษ โดยรวบรวมที่มาของคติความเชื่อทางศาสนา แบบแผน และรูปแบบลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรม พร้อมสอดแทรกข้อสังเกตและการวิเคราะห์เชิงวิชาการ อีกทั้งเสนอภาพประกอบ ภาพลายเส้น และภาพสามมิติที่ถ่ายทอดมุมมองของพระปรางค์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ หนึ่งในพระปรางค์ที่ถือเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของแบบอย่างพระปรางค์ไทย ได้แก่ “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม” อันเป็นโบราณสถานสำคัญในทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ด้วยความงดงามในเชิงศิลปกรรม ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศว่ามีความโดดเด่นและสง่างามเป็นที่สุด จนกลายเป็นหนึ่งใน “สัญลักษณ์” สำคัญที่สื่อถึงประเทศไทย ก็ได้รับการนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน
หนังสือเล่มที่ 2 “คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม”
วิเคราะห์เจาะลึกถึงกระบวนการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของวัดอรุณฯ ซึ่งอธิบายถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับโลกและจักรวาลในทางพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏใน “คัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” และ “สมุดภาพ ไตรภูมิ” โดยสะท้อนผ่านแบบแผนของระบบสัญลักษณ์ในรูปแบบงานสถาปัตยกรรม และวิธีการจัดวางแผนผังรูปลักษณ์อาคารเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตลอดจนองค์ประกอบอื่น ๆ ของวัด ที่เชื่อมโยงถึงกันจนปรากฏเป็นเอกภาพโดยรวมที่สมบูรณ์ นับเป็นการอธิบายปริศนาโลกตำนาน ซึ่งเป็นรากฐานจิตวิญญาณและความเชื่ออันบริสุทธ์ของสังคมไทยยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยที่ยังไม่มีการศึกษาหรือตีความเช่นนี้มาก่อน
หนังสือเล่มที่ 3 “ศิลปกรรมงานช่างวัดอรุณ”
เนื้อหาสาระที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการทางเชิงช่างฝีมือด้านประณีตศิลป์ชั้นสูงของไทย ซึ่งใช้ประดับตกแต่งงานพุทธสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ภายในพระอาราม ผ่านมิติของคุณลักษณ์ด้าน “เครื่องไม้” “เครื่องปูน” “เครื่องกระเบื้อง” และ “เครื่องศิลา” ที่ร่วมกันสื่อแสดงถึงจินตภาพทางพุทธศิลป์ไทยอันวิจิตรงดงามยิ่ง จนปรากฏเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของแบบแผนศิลปกรรมยุครัตนโกสินทร์ และส่งผลให้พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของประเทศไทยในที่สุด
หนังสือเล่มที่ 4 “แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม”
เนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจรังวัด และแบบรังวัดทางสถาปัตยกรรมของวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร “พุทธสถาปัตยกรรมไทย” ชิ้นสำคัญที่สะท้อนถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์สุนทรียศิลป์ที่ผนวกด้วยสัญลักษณ์และความหมายทางพุทธปรัชญา และมีองค์พระปรางค์ที่งดงามที่สุดของงานสถาปัตยกรรมไทย ภายในเล่มได้บอกเล่ากระบวนการสำคัญ ที่แสดงถึงขั้นตอนเริ่มต้นในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถาปัตยกรรม และแบบการแสดงข้อมูลจากการสำรวจรังวัดโดยครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นการผสมผสานระหว่างมิติทางเรขาคณิต ผ่านการระบุตำแหน่ง ระยะ มุม ขนาด โดยมีตัวเลขกำกับที่แม่นยำเที่ยงตรงผ่านองค์ประกอบของเส้นสายลวดลาย รูปแบบ รูปทรง และความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงทางกายภาพภายนอก กับพื้นที่ว่างภายในโครงสร้าง ทำให้ได้แบบสถาปัตยกรรมที่มีความถูกต้องและสวยงามสมจริง ที่ถ่ายทอดลงสู่แบบในกระดาษด้วยวิธีการเทียบมาตราส่วน อันเป็นฐานข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดองค์ความรู้อันทรงคุณค่าทั้งในด้านการศึกษา การบูรณปฏิสังขรณ์ และการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมไทยต่อไปในอนาคต
Recent Comments