ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศระดับโลก เปิดเผยรายงานผลการศึกษาฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “The Ultimate B2B E-commerce Guide: Tradition is out. Digital is in” ซึ่งคาดการณ์การเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซ โดยระบุว่าภายในปี 2568 ราว 80% ของการซื้อขายแบบ B2B ระหว่างซัพพลายเออร์และลูกค้าองค์กรจะดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล

นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล (digitalization) อย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) ที่คุ้นเคยกับการใช้งานเทคโนโลยี ได้กลายเป็นผู้ตัดสินใจในกระบวนการทำธุรกิจแบบ B2B ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก

จอห์น เพียร์สัน, ซีอีโอของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส กล่าวว่า “แม้ว่าการปิดประเทศเกิดขึ้นทั่วโลก กระแสโลกาภิวัตน์ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยได้อานิสงค์จากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล และความแข็งแกร่งของระบบการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดเร่งให้เกิดพัฒนาการในส่วนนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยธุรกิจที่ขายสินค้าในโกลบอลมาร์เก็ตเพลส มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบอีคอมเมิร์ซและบริการลอจิสติกส์ทั่วโลกคือกุญแจสำคัญที่ปลดล็อคมาตรการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดให้กับลูกค้าจำนวนมาก”

ผลการศึกษาซึ่งจัดทำโดยดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นการเติบโตของตลาด B2B อีคอมเมิร์ซทั่วโลก กล่าวคือ นอกเหนือจากเทรนด์ทั่วไป เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ และการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลแล้ว กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยครองสัดส่วนมากถึง 73% ของผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อขายแบบ B2B ภายในองค์กร และเนื่องจากคนกลุ่มนี้เติบโตพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและคุ้นเคยกับการค้าแบบ B2C ดังนั้นจึงมีความคาดหวังสูงเมื่อทำธุรกิจ B2B ส่งผลให้องค์กรธุรกิจลงทุนในโซลูชั่นดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต

เคน ลี, ซีอีโอของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) ยอดขายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงพีคของปีมีการเติบโตสูงถึง 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากมีจำนวนผู้ส่งสินค้ามากขึ้น และยอดใช้จ่ายเฉลี่ยของลูกค้าแต่ละรายที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 21% โดยช่วงสองเดือนดังกล่าว กว่า 65% เป็นชิปเม้นท์แบบ B2C โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีคอนซูมเมอร์และเครื่องแต่งกายแฟชั่น ตอกย้ำถึงการขยายตัวของธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ รวมถึงความต้องการบริการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต้องเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที

ไม่เพียงแต่ธุรกิจ B2C อีคอมเมิร์ซที่มีการขยายตัวจากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ยอดขายทั่วโลกบนเว็บไซต์ B2B อีคอมเมิร์ซ และ B2B มาร์เก็ตเพลส เพิ่มสูงขึ้นถึง 18.2% จนแตะระดับ 12.2 ล้านล้านดอลลาร์[1] แซงหน้าตลาด B2C และผลจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลที่รวดเร็ว ทำให้คาดว่ายอดขาย B2B อีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 20.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2570[2]

สิ่งที่คาดการณ์สำหรับอนาคตของธุรกิจ B2B ได้ปรากฏให้เห็นในรูปแบบของการเติบโตที่รวดเร็วของ B2C อีคอมเมิร์ซปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส มีอัตราการเติบโตสูงในช่วงเทศกาลวันหยุด (เช่น เทศกาลอีสเตอร์ คริสต์มาส) และช่วงเทศกาลช้อปปิ้งสำคัญ (เช่น Black Friday หรือ Cyber Monday) โดยรวมแล้ว ยอดขาย B2C อีคอมเมิร์ซ ภายในเครือข่ายของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ปี 2563 เพิ่มขึ้นราว 40% เมื่อเทียบกับปี 2562

เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่าทรานฟอร์เมชันของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ต้องการสร้างโอกาสทางจากการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยการให้บริการผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ช่วยทำให้การดำเนินการทางการค้าเป็นไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ การให้บริการของเรายังช่วยให้ธุรกิจและผู้บริโภคในกว่า 220 ประเทศสามารถทำการค้าทั่วโลกได้ตามปกติ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

ในปี 2563 ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสจัดส่งสินค้าทั้งหมด 484 ล้านชิ้นให้แก่ลูกค้าทั่วโลก (รวม B2C และ B2B) เพิ่มขึ้นราว 9% ต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2562 และเพื่อรองรับการขยายตัวของเครือข่ายบริการขนส่งระหว่างประเทศ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสมีแผนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 1 พันล้านยูโรต่อปีในฮับ เกตเวย์และศูนย์บริการต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการคัดแยกพัสดุ (เพิ่มขึ้น 65% นับตั้งแต่ปี 2556) รวมถึงการจ้างพนักงานใหม่ (เพิ่มขึ้น 10,000 คนจากปีก่อนหน้า) และการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ (เพิ่มขึ้น 20 ลำจากปีก่อนหน้า) ทั้งนี้ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เพิ่งประกาศจัดซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง B777 จำนวน 8 ลำ และร่วมมือกับ Smartlynx Malta ในการซื้อเครื่องบินแอร์บัส A321 อีก 2 ลำ การลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสมีความพร้อมในการให้บริการที่ดีเยี่ยมแก่ลูกค้าทั่วโลกในยุคทองของอีคอมเมิร์ซ

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทดอยช์โพสต์ ดีเอชแอล กรุ๊ป โดยให้บริการขนส่งสินค้าด่วนระหว่างประเทศแบบ door-to-door รับส่งพัสดุและเอกสารสำหรับองค์กรธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ปัจจุบัน ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส มีเครื่องบินขนส่ง 280 ลำทั่วโลก ครอบคลุมสนามบินกว่า 500 แห่ง โดยมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้ลูกค้ากว่า 2.7 ล้านราย ครอบคลุม 220 ประเทศทั่วโลก สำหรับดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ในประเทศไทย เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี .. 2516 โดยมีเที่ยวบินขนส่งระหว่างประเทศราว 285 เที่ยวบินต่อสัปดาห์จากศูนย์กลางที่ฮับและเกตเวย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ขนส่งสินค้าระดับภูมิภาคของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส และเป็นเกตเวย์เชื่อมต่อสู่อินโดจีน

ดาวน์โหลดสุดยอดคู่มือเพื่อธุรกิจ B2B ระหว่างประเทศ “The Ultimate B2B E-commerce Guide: Tradition is out. Digital is in” ได้ที่ https://bit.ly/3txugVo