สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซีร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล มหาวิทยาลัยบูรพา และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง สถานการณ์ภาคตะวันออก พ.ศ. 2568 หัวข้อ “การพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนอีอีซีอย่างยั่งยืน” ณ หอประชุมธํารงบัวศรี มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เป็นประธานเปิดงานฯ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ. ร่วมปาฐกถาพิเศษ และมีดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวให้การต้อนรับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เป็นผู้สรุปการเสวนาฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ – เอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน เข้าร่วมในการสัมมนา

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีกลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนในพื้นที่อีอีซี สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน อีกทั้งเพื่อนำเสนอรายงาน “การพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนอีอีซีอย่างยั่งยืน” ให้สาธารณชนโดยรวมได้รับทราบ สถานภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยมูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI ได้จัดทำรายงานชิ้นนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำเสนอข้อมูลโดยสรุป หรือ Dashboard เรื่อง State of the Eastern Region เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า งานสัมมนาฯ ครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน การเตรียมบุคลากรที่มีทักษะสูง เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท ซึ่งคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรม BCG และบริการ โดย สกพอ. ได้นำแนวคิด Demand Driven Human Resource Development มาปรับใช้เพื่อการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านกลไกความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่ “มีงานทำ รายได้ดี สร้างสังคม อีอีซี”

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรรูปแบบ EEC Model (ปี 2561 – 2567) แบ่งเป็น EEC Model Type A เป็นการผลิตบุคลากรพร้อมใช้ เอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียน ร้อยละ 100 และรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ ได้ผลิตบุคลากรแล้วกว่า 66,604 คน และรูปแบบ EEC Model Type B เป็นการผลิตบุคลากรในระยะเร่งด่วน ด้วยการฝึกอบรมระยะสั้น Short Course รัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่าย 50 : 50 โดยปัจจุบันมีหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมระยะสั้นที่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองแล้ว จำนวน 367 หลักสูตร มีผู้สำเร็จการอบรมผ่านหน่วยงานสถาบันการศึกษา 21 แห่ง กว่า 1,016 รุ่น รวมจำนวน 25,581 คน (ข้อมูล ณ 14 ก.ค. 2568) นอกจากนี้ สกพอ. ได้ผลักดันการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์เครือข่ายความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาบุคลากรและการศึกษาสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในอีอีซี (EEC Nets) จำนวน 13 ศูนย์ เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาทักษะบุคลากร ให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้มีการจัดเวทีอภิปรายเป็น 2 ช่วง เพื่อเจาะลึกและร่วมกันหาแนวทางการพัฒนากำลังคนใน EEC อย่างยั่งยืน โดยช่วงที่ 1 จะเป็นเวทีเสวนา หัวข้อ “การพัฒนากำลังคนใน EEC ตาม EEC Roadmap ปัจจุบัน” โดยมีผู้อภิปราย ได้แก่ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี ดร.อภิชาติ ทองอยู่ คณะทำงานประสานงาน ด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นายจิตรพงษ์ พุ่มสอาด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ (Business Alliance Development, Delta Electronics) และมี รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ หัวหน้าคณะวิจัยและที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรมนุษย์ TDRI ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล (คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ช่วงที่ 2 จะเป็นเวทีเสวนา หัวข้อ “การพัฒนากำลังคนตามฉากทัศน์ Future Thailand: บทบาทและโอกาสของ EEC” โดยผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)นายยุทธนา ตรีรัตไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบริหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม : FIBO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.ณัฐสิทธื์ เกิดศรี วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

โดยภายในการอภิปรายดังกล่าว จะได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับข้อเสนอหลักในรายงานฯ “การพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนอีอีซีอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) สกพอ. เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือแบบ triple helix ที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจในอนาคตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 cluster ใน EEC 2) แก้ปัญหา education-employment mismatch ด้วย education sandbox เพื่อลดปัญหา mismatch แรงงานใน EEC ผ่านหลักสูตรที่ยืดหยุ่น เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม และเน้นทักษะ เช่น fast track competency-based learning micro-credentials และ upskill/reskill

3) การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ Future Thailand โดยเน้นการเตรียมแรงงานสำหรับทักษะปลาย smiling curve เช่น R+D automation และ deep tech 4) พัฒนาแรงงานไทยให้มีสมรรถนะ ในฐานะพลเมืองโลก (global citizen) และ 5) สร้างระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อการดึงดูดและพัฒนาบุคลากรคุณภาพและนวัตกรรมในพื้นที่ เพื่อดึงดูด talent IDE tech enterprises และ startup เข้าสู่ EEC

พร้อมกันนี้ ภายในข้อสรุปรายงานฯ จะเน้นว่า “คน” ไม่ใช่แค่ทรัพยากรของการผลิต แต่คือศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกมิติ หากประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบที่บูรณาการการลงทุน ด้านการศึกษาทักษะและนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย การเป็นประเทศรายได้สูงได้อย่างยั่งยืนในอนาคต