ผู้ประกอบการอาหารเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว ค้าปลีก ประสานเสียงเสนอรัฐปรับเวลาขายแอลกอฮอล์ – แก้ไขกฎหมายควบคุมโฆษณาสุดโต่ง – ยกเลิกสินบนรางวัลให้เจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างสมดุลนโยบายกำกับดูแลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย
(วันนี้ 13 พ.ค 67) สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ร่วมกับ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และสำนักข่าวเดอะเบทเทอร์ (The Better News) จัดงานเสวนา “ล้อมวงสุราสมดุล” ร่วมหาทางออกและจุดสมดุลของนโยบายแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อหาทางออกและจัดทำข้อเสนอด้านนโยบายการกำกับดูแลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาวะ ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเข้าร่วม
ดร.จรัญญา นพนุกูลวิเศษ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไม่อาจมองข้าม เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การบริการ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากนโยบายการขยายเวลาการเปิดสถานบริการใน 5 พื้นที่เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่แล้ว และจากผลการศึกษาวิจัย เรื่อง “การทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น จุดประเด็นให้สังคมเห็นถึงปัญหา ความท้าทาย และโอกาสที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยจะต้องพูดคุยกันในเรื่องนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นที่มาของเวทีในวันนี้
“ทุกภาคส่วนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และภาคประชาชน จะต้องร่วมมือกันพูดคุย หาแนวทาง และจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างนโยบายกำกับดูแลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ก่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และสาธารณสุข ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างทันท่วงที เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยภายใต้สภาวะการแข่งขันกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว” ดร.จรัญญา กล่าว
นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาท และภาครัฐมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ปัจจุบันรัฐบาลพยายามผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายครอบคลุมในทุกมิติทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน และส่งเสริมศักยภาพผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชนและรายเล็กให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพผลิตภัณฑ์เทียบเท่ากับต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา รูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ การขยายเวลาการเปิดสถานบริการใน 5 พื้นที่ และมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้มี
การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มสินค้าสุราบางประเภท ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราวสำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ และยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ อย่างไรก็ดี นโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งล้าสมัยไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและบริการ การส่งเสริมการผลิตในระดับชุมชนซึ่งใช้วัตถุดิบการเกษตรในท้องถิ่นเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นที่กฎหมายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องได้รับการปรับปรุงโดยเร่งด่วน เพื่อให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการนำเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าโดยที่ยังคงรักษาสมดุลทางสังคมและสาธารณสุขไว้ได้ ทั้งนี้ เราตระหนักว่าในอีกด้านหนึ่งนั้นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย หรือ Harmful Use of Alcohol ได้สร้างต้นทุนทางสังคมกว่า 1.7 แสนล้านบาท
“สามประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งปลดล็อก ได้แก่ หนึ่ง มาตรการควบคุมเวลาขาย ซึ่งรัฐบาลควรเร่งแก้ไขกฎหมายอนุบัญญัติให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. ได้ รวมถึงพิจารณาปรับปรุงมาตรการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 24.00 น. ซึ่งในปัจจุบันเป็นการห้ามแบบเหมารวมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สามารถขายและให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หลัง 24.00 น. เช่น จนถึง 02.00 น. เป็นต้น เป็นรายพื้นที่ สอดคล้องกับบริบททางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทั้งนี้ โดยกระจายอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต และโดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณา ประเด็นที่สอง คือ มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สุดโต่ง จะต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความชัดเจน ให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้ ต้องลดการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการทั่วไป ทั้งนี้ การโฆษณา ณ จุดขายซึ่งผู้บริโภคตั้งใจมาซื้อสินค้าหรือบริโภคอยู่แล้วจะต้องกระทำได้ อีกทั้ง การแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เป็นจริงก็จะต้องกระทำได้เช่นกัน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและพอเพียงต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือ Informed Decision โดยข้อเท็จจริงแล้วการห้ามการโฆษณาหรือสื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ เป็นเสมือนเครื่องมือในการขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะรายย่อย และเป็นการเอื้อให้เกิดการผูกขาดโดยผู้เล่นรายใหญ่หรือผู้เล่นเพียงไม่กี่รายที่มีอยู่เดิมอีกด้วย ประเด็นที่สาม คือ สินบนรางวัล โดยที่ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดโทษปรับในอัตราสูงมากเมื่อเทียบเคียงกับกฎหมายอื่น อีกทั้งไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดหรือสภาพเศรษฐกิจของผู้กระทำผิด เช่น ค่าปรับตามมาตรา 32 เรื่องการโฆษณา มีอัตรา 50,000 ถึง 500,000 บาท โดยที่เจ้าหน้าที่จะได้รับสินบนรางวัลมากถึง 60-80% ของค่าปรับ อันอาจเป็นเหตุให้มีการบังคับใช้กฎหมายหรือการใช้ดุลยพินิจที่เกินจำเป็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ประกอบการรวมถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงควรต้องยกเลิกสินบนรางวัลเพื่อคงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลที่ดี และปกป้องมิให้การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจทำงานต้องถูกมองในเชิงลบ สอดคล้องกับข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่ให้ยกเลิกสินบนรางวัล” นางสาวเขมิกา เสนอ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา “ล้อมวงสุราสมดุล” ร่วมหาทางออกและจุดสมดุลของนโยบายแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ประกอบด้วย นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย, ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, นายดำรงเกียรติ พินิจการ สมาชิกสภาเมืองพัทยาและเลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา, นางสาวธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), และ นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ทั้งหมดเห็นตรงกับข้อมูลจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอว่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้มากว่า 16 ปี มีเจตนารมณ์ที่ดีในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสังคมจากจากการดื่มเครื่องดื่มอย่างเป็นอันตราย และการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน หากแต่การกำกับดูแลยังแก้ไม่ตรงจุด จะเห็นได้จากสัดส่วนการดื่มของกลุ่มเด็ก-เยาวชนไม่ลดลง ยกเว้นช่วงโควิด และจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ “เมาแล้วขับ” ยังมีแนวโน้มสูง ยกเว้นช่วงโควิด
ผู้ร่วมเวทีเสวนาซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว และค้าปลีก ต่างก็เสนอให้รัฐปรับเวลาขายแอลกอฮอล์ แก้ไขกฎหมายห้ามโฆษณา พร้อมทั้งเห็นสนับสนุนข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่ให้ยกเลิกสินบนรางวัลเพื่อลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกินจำเป็นหรือในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อทำให้กฎหมายเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเชื่อว่าการปลดล็อกมาตรการเหล่านี้จะช่วยติดเครื่องให้ภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภาคการท่องเที่ยวไทย อุตสาหกรรมสุราชุมชน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และ SME มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งจนสามารถแข่งขันในระดับประเทศและโลกได้ ที่สำคัญก่อให้เกิดสมดุลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสาธารณสุขในคราวเดียวกัน
ส่วนความกังวลของหลายภาคส่วนที่มีต่อปัญหาเมาแล้วขับและการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนนั้น ผู้ร่วมเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เหมารวม ขาดมุมมองที่ครบถ้วนในทุกมิติ สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง และเสนอให้รัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เช่น การขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ การเมาแล้วขับ เป็นต้น ยุติวัฒนธรรมการเรียกรับสินบน ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตรายผ่านการให้การศึกษาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วัยเรียน เพื่อสร้างทัศนคติและวัฒนธรรม “ดื่มไม่ขับ” “ดื่มพอดี” และ “ขายอย่างรับผิดชอบ” นอกจากนี้ การห้ามให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ซื้อนั้นไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูล รายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงและจำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดก็ตาม การปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งไม่ได้การันตีว่าประชาชนจะดื่มอย่างเป็นอันตรายน้อยลง
Recent Comments