นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ย้ำถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ช่วยให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงมุ่งมั่นส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สังคมไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ และ หนึ่งในนิทรรศการที่โดดเด่นในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 คือ บูธนิทรรศการ ต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว ซึ่งนำผู้เข้าชมเดินทางสู่ดินแดนสุดขั้วอย่าง ‘ทะเลทราย’ และเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้างทุกปี ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ

ในปี 2567 นี้ ประเทศไทยเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ควรมองข้าม หากเราไม่เร่งแก้ปัญหาอย่างทันถ่วงที ภาพประเทศไทย “เป็นทะเลทราย” อาจกลายเป็นความจริงในอนาคตอันใกล้ โดยในนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับทะเลทราย โดยอธิบายว่าพื้นที่ใดจะถูกเรียกว่าเป็นทะเลทรายได้นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า 250 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งทำให้ดินขาดความชุ่มชื้น พืชและสิ่งมีชีวิตไม่สามารถงอกเจริญเติบโตได้ นิทรรศการยังเน้นย้ำถึงจุดเสี่ยงในประเทศไทย เช่น พื้นที่ภูเขาหัวโล้นทางภาคเหนือ ที่อาจกลายเป็นทะเลทรายได้ในอนาคต หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สำหรับเยาวชน นิทรรศการนี้ไม่เพียงแค่ให้ความรู้ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจในการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และอาจต่อยอดให้พวกเขาเลือกเส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อมาร่วมกันแก้ไขปัญหาในอนาคตตลอด 10 วันเต็มของการจัดงาน นิทรรศการต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว จะสะท้อนการเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ โดยไม่มีข้อจำกัด สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ก้าวข้ามพรมแดนของห้องเรียนและสถาบันการศึกษา

ร่วมสัมผัสประสบการณ์และเตรียมความพร้อมสู่อนาคตได้ที่นิทรรศการต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 67 ณ อาคาร 9-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 สิงหาคม เวลา 9.00-19.00 น.