นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2566 โดยในการนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมออกบูธนิทรรศการในธีม “TCELS Innovation for Life นวัตกรรมเพื่อชีวิต” นำกิจกรรมและนวัตกรรมแสนสนุกที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของมนุษย์ มาให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมสนุกอย่างมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น

• “น้องไข่ต้ม หุ่นยนต์ AI อัจฉริยะ” ผลงานของ Obodroid บริษัท Start-Up สัญชาติไทย ที่สามารถตรวจบันทึกสุขภาพเบื้องต้น และเป็นเพื่อนคุยเล่นกับผู้สูงวัยได้ พร้อมทั้งยังมีฟีเจอร์กล้องวงจรปิดและบันทึกเสียงแจ้งเตือนยามที่ผู้สูงวัยอยู่บ้านเพียงลำพัง

• “Landmark แขนกลประดิษฐ์” พร้อมวิดีโอสาธิตการใช้งานจริงจากโมเดล High throughput screening ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) และ Automated Tissue Culture ของศูนย์ให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ มจธ.

• “กล้องส่องเซลล์” เปิดโลกชีววิทยาให้น้องๆ หนูๆ ได้เรียนรู้โครงสร้างของเซลล์ชนิดต่างๆ จากเซลล์ของจริง

• “แอพพลิเคชั่นฝึกสมอง” ให้น้องๆ ได้สนุกสนานไปพร้อมๆ กับได้พัฒนาความคิด รวมไปถึงกิจกรรมร่วมสนุกชิงของรางวัลอีกมากมายภายในบูธ TCELS

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการร่วมออกบูธนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “TCELS มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ เกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สามารถรองรับกับทุกช่วงวัยของคนไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชราในทุกมิติ นวัตกรรมที่ TCELS ร่วมกับหน่วยงานภาคีนำมาจัดแสดงให้งานนี้ แสดงให้เห็นว่าเราไม่เพียงมุ่งมั่นสนับสนุนงานในเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการหนุนเสริมให้นวัตกรรมนั้นๆ สามารถสนับสนุนด้านมิติทางสังคมและจิตใจให้แก่ผู้ใช้ด้วย สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Bring it to Life ของ TCELS ที่ต้องการจะสนับสนุนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทยทุกคน”

“สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้ นอกจากนวัตกรรมต่างๆ ที่นำมาโชว์แล้ว บูธของ TCELS ยังมีเกมและกิจกรรมมากมาย ที่ออกแบบมาจากฐานความรู้ทางชีววิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งนอกจากความสนุกสนานแล้ว น้องๆ เยาวชนยังจะได้เชื่อมโยงความรู้สู่จินตนาการ เกิดความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจในการนำสาระความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิต รวมถึงอาจพัฒนาตนเองไปสู่สายงานด้านชีววิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต ซึ่ง Life Sciences นี้ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยังเปิดกว้างและเป็นพลวัติสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง” ดร.จิตติ์พร ทิ้งท้าย

งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2566 ในครั้งนี้จัดแสดง ณ ฮอล 9-11 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ใครที่สนใจ สามารถมาเที่ยวชมและร่วมสนุกกับบูธ TCELS ได้ที่ฮอล 10 ระหว่างวันที่ 11-20 สิงหาคม 2566