“ฉันมายืนตรงนี้เพื่อเป็นตัวแทนทุกคนที่เคยรู้สึกไม่เข้าพวก รู้สึกถูกตัดสินและรู้สึกเจ็บปวด เพราะเราแตกต่างจากมาตรฐานของสังคม วันนี้ฉันอยู่นี่ เพื่อส่งเสียงให้คุณ โดยเฉพาะเด็กสาว ๆ ให้ได้ชื่นชมรูปร่าง และความเป็นตัวของตัวเอง ฉันได้ยินคุณ ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อคุณ”

เดือนตุลาคม 2564 แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส ผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2021 นำเสนอแนวคิด Real Size Beauty ในกิจกรรมการประกวด และที่สุดแอนชิลีสามารถคว้ามงกุฎมาครอง ตามมาด้วยปรากฏการณ์ “Real Size Beauty และแอนชิลี” ทางสื่อและสื่อสังคมออนไลน์

แนวคิด Real Size Beauty ที่แอนชิลีนำเสนอ คือ ให้ผู้หญิงมีความมั่นใจและภูมิใจในรูปร่างของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องผอมเพรียวตามค่านิยมหรือบรรทัดฐานการประกวดที่เป็น Beauty Standard ดั้งเดิม แอนชิลี ใช้พื้นที่เวทีการประกวดสร้างแรงกระเพื่อม “มาตรฐานความสวยที่หลากหลาย” เป็นการเปิดประเด็นทางสังคมให้ยอมรับความแตกต่างในรูปร่าง เพื่อทุกคนมีตัวตนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งเข้าใจและภูมิใจในตนเอง จากกระแสนี้จึงทำให้คำว่า “แอนชิลี” และ “Real Size Beauty” ถูกกล่าวถึงและติดคำค้นใน Google Trends ทั้งเป็น # (แฮชแท็ก) ยอดนิยมในทวิตเตอร์ประเทศไทย ในช่วงเวลานั้น

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ความรู้สึกในการสื่อสารออนไลน์เกี่ยวกับ “แอนชิลี” และ “Real Size Beauty” พบว่า จากตัวอย่างข้อความในทวิตเตอร์คนทั่วไปจำนวน 100 ข้อความ ส่วนใหญ่คือ จำนวน 87 ข้อความ เห็นด้วยกับแนวคิด Real Size Beauty ชื่นชมการนำเสนอและการแสดงออกของแอนชิลี ทั้งเรื่องการตอบคำถาม หน้าตาที่มีความสวยงามในแบบสากล คำพูดที่สร้างพลังบวกและแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง ทั้งมีการโต้กลับบุคคลที่โจมตีแอนชิลี

เกี่ยวกับประเด็นนี้ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ ผู้ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายในสังคม วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์ Real Size Beauty ของแอนชิลี สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของกลุ่มคนสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกมองว่าเวทีประกวดนางงามเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ ซึ่งเป็นอิทธิพลทางความคิดจากทฤษฎีสตรีนิยม และกลุ่มที่สอง คือคนที่ยังคงให้ความสนใจการประกวดนางงาม หากแต่เป็นการยอมรับสถานะการมีอยู่ของเวทีการประกวดที่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการประกวดในเรื่องความงามของเรือนร่าง หากต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้เข้าประกวดได้แสดงความคิดเห็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ดังจะเห็นจากช่วงการตอบคำถาม และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลอดระยะเวลาการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 แอนชิลีสามารถเรียกกระแสความสนใจจากสังคม โดยเฉพาะยุคสมัยปัจจุบันที่คนเห็นคุณค่าในเรื่องความแตกต่างหลากหลาย บวกกับการตระหนักว่าการเหยียดรูปลักษณ์คนอื่นด้วยคำพูดที่ไม่ได้กลั่นกรอง (Body Shaming) เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ดังนั้น แอนชิลีจึงได้รับการยอมรับในฐานะผู้ทลายกรอบความงามที่เป็นมาตรฐานสังคม สู่ความงามที่แท้จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีการต่อต้านแอนชิลีว่าเป็นผู้ทลายคุณค่าความสวยตามแบบมาตรฐานของเวทีประกวดนางงาม

นอกจากนี้ การแสดงออกทางความคิดที่แตกต่างกันต่อปรากฏการณ์แอนชิลี ยังสะท้อนความเข้าใจ “Real Size Beauty” ของคนในสังคม ซึ่งอาจารย์เคทได้วิเคราะห์ว่า สังคมมีการขยายกรอบความคิดเรื่องความสวยที่กว้างมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องย้อนกลับมาคิดว่า คนในสังคมมีความเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาสังคมไทยมีความเป็นเอกวัฒนธรรมสูง ในลักษณะความเชื่อแบบภาพแทน (Represent) เช่น ภาพแทนความเป็นหญิง/ชาย ควรเป็นอย่างไร หรืออย่างไรคือความสวย/ความไม่สวย ซึ่งในความเป็นจริง สังคมดำรงไปด้วยคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งรูปร่าง หน้าตา ศาสนา ชาติพันธุ์ การสร้างการยอมรับความแตกต่างเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สังคมไทยกำลังเผชิญ เพราะเมื่อใดที่ฐานความคิดการเคารพในความหลากหลายไม่เกิดขึ้น ยากที่จะทำให้คนในสังคมเข้าใจ ความไม่เข้าใจนำมาซึ่งการปฏิเสธ การไม่ยอมรับ

สำหรับบทบาทหน้าที่สื่อต่อประเด็น Real Size Beauty นั้น อาจารย์เคท แบ่งสื่อออกเป็นสองลักษณะ คือ แบบแรก สื่อโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ที่ผลิตซ้ำความคิดเรื่องความสวยงามตามกรอบของสังคม ผ่านสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผู้หญิง ผู้หญิงที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้เพื่ออยากให้รูปร่างของตัวเองเป็นไปตามที่สังคมคาดหวังอยากให้เป็น ดังนั้นจึงยังคงเห็นสื่อลักษณะนี้ปรากฏเป็นจำนวนมาก แบบที่สอง คือ สื่อความรู้ จากเดิมไม่ค่อยปรากฏ เพราะสื่อช่องทางหลักมีน้อย แต่หลังจากที่มีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนมีพื้นที่หรือช่องทางในการสื่อสารเรื่องของตัวเองมากขึ้น โซเชียลมีเดียยังเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม สื่อและการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวังในการเลือกใช้คำหรือการพาดหัว เมื่อกล่าวถึงอัตลักษณ์ของบุคคล เพราะการใช้คำเป็นเรื่องความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการสื่อสารเชิงล้อเลียน เสียดสี อาจเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกตั้งคำถามกลับจากบุคคลอื่นได้เช่นกัน

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการทำหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ อาจารย์เคทยกตัวอย่างประเทศนิวซีแลนด์ที่มีคู่มือและข้อกำหนดการใช้คำสำหรับนักการเมือง รวมทั้งข้าราชการหรือบุคลากรภาครัฐ ในการใช้คำที่ถูกต้องและเหมาะสมกับกลุ่มคนต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจ ความละเอียดอ่อน และความไม่ปล่อยให้คนจมอยู่กับความไม่รู้ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในสังคมไทย เช่น การจัดทำคู่มือ เพื่อให้สื่อและสังคมไทยมีความเข้าใจในเรื่องความหลากหลาย และหลุดพ้นจากการผลิตซ้ำความคิดและการใช้คำในรูปแบบเดิม

นอกจากนี้ อาจารย์เคท ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกวดนางงามว่า ปัจจุบันคนในสังคมรู้สึกว่าความสวยของนางงามที่เข้าประกวดไม่ได้เป็นภาพแทนถึงประเทศนั้น ๆ และเริ่มตั้งคำถามถึงประโยชน์ของการประกวดนางงาม และถ้าเวทีการประกวดนั้นแฝงไว้ซึ่งการโฆษณาต่าง ๆ ยิ่งทำให้ดึงดูดความสนใจของคนได้น้อยลง คนดูรู้สึกเบื่อ เลิกติดตาม ประกอบกับสังคมไทยมีความตระหนักรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น โดยจะเห็นว่ามีการถกประเด็นคุณค่าความงาม ที่ไม่ใช่เพียงการตัดสินนางงามจากรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่สนใจว่าผู้เข้าประกวดส่งสารอะไร หรือพูดอะไรในประเด็นทางสังคมได้บ้าง

การจัดประกวดนางงามกำลังถูกท้าทายจากสังคมว่า จะสามารถดึงชุดความคิดเรื่องของความหลากหลาย มาเป็นคุณค่าหลักของการประกวดได้หรือไม่