ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ โลกออนไลน์สามารถเข้าถึงข้อมูลกันได้ง่าย เพียงแค่ปลายนิ้วไม่กี่คลิกแม้จะสามารถทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้น แต่ก็อาจส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นได้มากมาย ทั้งทางบวกและทางลบ เพราะแน่นอนว่าหากเราใช้สื่อออนไลน์ หรือ โซเชียลในทางที่ผิด เพราะขาดสติยั้งคิดก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพฤติกรรมที่ส่งผลต่อผู้อื่น จนนำมาซึ่งความรุนแรงในรูปแบบของคำพูด คำดูถูก แบบที่เรียกว่า “Cyberbully”
ดังนั้น AIS โดย AIS อุ่นใจ Cyber คู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกเจเนอเรชัน จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้คนไทยเข้าใจและตระหนักถึงการใช้โซเชียล ด้วยการ “คิด” ก่อนเมนต์ “คิด” ก่อนแชร์ “หยุด” รังแก บนโลกออนไลน์ พร้อมสร้างพื้นที่ให้ชาวโซเชียลได้มาแชร์ประสบการณ์การถูก ไซเบอร์บูลลี่อิ้ง พร้อมวิธีการรับมือ เพื่อให้เพื่อนบนโลกออนไลน์ ได้ตื่นตัวและหยุดการ ไซเบอร์บูลลี่ เนื่องในวัน Stop Cyberbullying Day 2021
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS อธิบายว่า “AIS ในฐานะผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสื่อสารผ่านดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ของคนในสังคม นอกจากมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพบริการแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างการตระหนักรู้ถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง ผ่าน AIS อุ่นใจCyber ในฐานะเพื่อนคู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกเจเนอเรชัน โดยในวัน Stop Cyberbullying Day ที่ถูกกำหนดให้วันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนในทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 18 มิถุนายน AIS จึงถือโอกาสนี้ในการตอกย้ำจุดยืนเพื่อชวนคนไทยให้ตระหนักถึงความรุนแรง จากการกลั่นแกล้ง หรือ รังแกทางไซเบอร์ พร้อมเชิญร่วมหยุดพฤติกรรม การกระทำที่จะทำร้ายกันบนโลกออนไลน์ในทุกรูปแบบ โดยปีนี้เราได้รับเกียรติจากเซเลบบริตี้ที่เคยผ่านการถูกไซเบอร์บูลลี่อย่างหนัก คือ เขื่อน-ภัทรดนัย ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความเจ็บช้ำจากการถูกกระทำดังกล่าว รวมถึงวิธีรับมือ พร้อมประเด็นที่น่าสนใจจาก ผศ.ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาบอกเล่าถึงสังคม วัฒนธรรม และแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปในสังคมออนไลน์จนทำให้เกิด ไซเบอร์บูลลี่ เพื่อท้ายที่สุดจะได้ร่วมกันแก้ไข และลดปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ที่เริ่มต้นง่ายๆด้วยตัวเราเพียงแค่ “คิด” ก่อนเมนต์ “คิด” ก่อนแชร์ “หยุด” รังแก บนโลกออนไลน์”
เขื่อน-ภัทรดนัย นักร้อง นักแสดง บอกกับเราว่า “การไซเบอร์บูลลี่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ง่าย เพราะผู้คนในสังคมออนไลน์ไม่ได้เผชิญหน้ากัน ดังนั้นใครอยากจะทำอะไรก็ได้ จะคอมเมนต์ จะแชร์ เพื่อความสนุก ความสุข ยุคนี้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เพราะพวกเค้ารู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องพบเจอหน้าคนที่ตนเองพูดถึง โดยยอมรับว่าตนเองโดนไซเบอร์บูลลี่มาตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงตอนนี้ก็ยังโดน ไซเบอร์บูลลี่ในการเหยียดเพศ ยอมรับว่าเจ็บ และเป็นรอยช้ำอยู่ในใจ ดังนั้นอยากจะขอให้ผู้คนในสังคมออนไลน์มีสติในการเล่นโซเชียล ก่อนคอมเมนต์ ก่อนแชร์ ให้หยุดและคิดก่อนว่าทำไปเพื่ออะไร และสิ่งที่กำลังทำจะไปรังแกคนบนโลกออนไลน์หรือไม่”
ผศ.ดร. วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมาการบูลลี่ในสังคมมักเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กันที่รูปร่างหน้าตา, นิสัย ไปจนถึงฐานะทางสังคม ซึ่งวันนี้ย้ายเนื้อหานั้นมาอยู่บนโซเชียลแทน สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ เราควรต้องเห็นใจซึ่งกันและกันให้มากพอ ก่อนที่จะวิจารณ์กัน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น ก็จะเกิดการกลั่นกรองในใจได้ไปเองว่า สิ่งนี้เราควรทำหรือไม่”
ทั้งนี้ แคมเปญ Stop Cyberbullying Day 2021 “คิด” ก่อนเมนต์ “คิด” ก่อนแชร์ “หยุด” รังแก บนโลกออนไลน์ จะเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ถ่ายทอดประเด็นไซเบอร์บูลลี่ สะท้อนความจริงบนโลกออนไลน์ทางเพจ AIS Sustainability www.facebook.com/ais.sustainability ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายนนี้ พร้อมชวนคนไทยแชร์ประสบการณ์การถูก Cyberbullying และวิธีการรับมือ ติดแฮชแท็ก #AISAunjaicyber #อุ่นใจไซเบอร์ #Stopcyberbullying #หยุดรังแกบนโลกออนไลน์ เพื่อแสดงออกถึงการรวมพลังตื่นตัวและเชิญชวนสังคมให้ร่วมกันหยุดการไซเบอร์บูลลี่ให้ได้
Recent Comments