สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัด “พิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565” ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อมอบรางวัลให้แก่ 12 องค์กรไทย นำโดย กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) โดยมี นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัล พร้อมด้วย นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ร่วมกล่าวถึงแนวทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กรไทยด้วยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

ในการนี้ นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึง ความสำคัญรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในฐานะกลไกที่มุ่งสนับสนุนอนาคตเศรษฐกิจและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยไว้ว่า “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นกลไกที่ดี และเหมาะสมต่อการส่งเสริม สนับสนุน การมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม และการดำเนินการโดยมุ่งมองไปยังอนาคต ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งมีมุมมองของการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถเทียบชั้นกับองค์กรขนาดใหญ่ ๆ ในระดับโลกได้ จึงนับเป็นเรื่องที่ดี ที่เรามีเกณฑ์การบริหารจัดการองค์กรที่เป็นสากล จึงขอฝากให้ทุกภาคส่วนมีความมุ่งมั่นปรับปรุงองค์กรอย่างจริงจัง เพื่อทุกภาคส่วนของประเทศจะได้ก้าว ไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน และสร้างความเข้มแข็งของประเทศจากภายในเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทยให้อยู่ในระดับสูง การนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ในองค์กร เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจจากภายใน ทั้งนี้ ต้องอาศัยการผนึกกำลังกันทุกภาคส่วน ที่จะเดินหน้าพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน”

ตามด้วยการกล่าวรายงานถึงความสำเร็จ และวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติ อันเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ที่มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล ด้วยมีพื้นฐานทางด้านเทคนิค และกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) โดย นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล

“รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลสูงสุดในการวัดระดับคุณภาพของระบบการบริหารจัดการองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของรางวัลนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้บรรจุรางวัลคุณภาพแห่งชาติไว้ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2545 เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน และมอบหมายสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ เผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาศักยภาพระบบการบริหารจัดการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการรางวัล โดยเป็นผู้บริหารจัดการ และดำเนินการผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ไปประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วนของธุรกิจในประเทศไทย และองค์กรที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี มีบทบาทในการแบ่งปันประสบการณ์จากบทเรียนแห่งความสำเร็จขององค์กร และกลยุทธ์ด้านคุณภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่น ๆ ได้เรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรจำนวนมาก ริเริ่มนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถขององค์กร และนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนับตั้งแต่การก่อตั้งรางวัล ในปี 2545 จนถึงปัจจุบัน มีองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จำนวน 9 องค์กร และองค์กรที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ จำนวน 134 องค์กร”

ปิดท้ายด้วยการประกาศรายชื่อ 12 องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น (TQC Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC) โดย นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ดังนี้

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านลูกค้า

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านบุคลากร

• ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

• มหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านการปฏิบัติการ

• กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

• บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ

• กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

• คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

• คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

• คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)