ดิจิทัล เฮลท์” (Digital Health) เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ผนวกเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและศาสตร์ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์มาไว้ด้วยกัน ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย ดูแล รวมถึงรักษาคนไข้ได้รวดเร็วแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งบางนวัตกรรมยังช่วยให้แพทย์สามารถสื่อสาร และเฝ้าระวังอาการของคนได้จากระยะไกลแบบ ไร้สัมผัส ได้อีกด้วย ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 เหล่านวัตกรรมดิจิทัลเฮลท์ต่าง ๆ ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 และในขณะเดียวกันช่วยลดความเสี่ยง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเหล่าแพทย์และพยาบาลในการปฏิบัติหน้าที่

โดยบทความในวันนี้ จะพาทุกท่านไปติดตามความก้าวหน้าของนวัตกรรมดิจิทัลเฮลท์ในไทย ผ่าน 3 ต้นแบบนวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย ที่ครอบคลุม “เครื่องตรวจโควิดแบบเรืองแสง, เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์, คลาวด์ ดีไซน์ (Cloud Design) วัดสัญญาณชีพ” ที่พร้อมเป็นต้นแบบแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในการต่อยอดหรือยกระดับประสิทธิภาพ สู่การรักษาทางการแพทย์ยุคใหม่ในอนาคต ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เครื่องมือตรวจเชื้อโควิดแบบเรืองแสง

อีกหนึ่งนวัตกรรมแนวดิจิทัลเฮลท์ ที่ก้าวข้ามอุปสรรคในการใช้เครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ ที่ไม่สะดวกต่อการพกพาหรือเคลื่อนย้าย แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันมีเพียงสมาร์ทโฟน พร้อมเครื่องมือตัวช่วยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสได้แล้ว ! ด้วย เครื่องมือตรวจเชื้อโควิดแบบเรืองแสง” ที่มาพร้อมเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผ่านการอ่าน ‘ค่าเรืองแสง’ ของชุดตรวจทางชีวโมเลกุล ด้วยกล้องของสมาร์ทโฟน !! ช่วยแพทย์รู้ผล ผู้ติดเชื้อใน 45-60 นาที เร็วกว่าการตรวจในระบบปกติที่ต้องเข้าห้องแลปถึง 3 เท่า ซึ่งทีมแพทย์ยังสามารถนำไปใช้ในการลงพื้นที่หรือตรวจคัดกรองตามชุมชน (On Site) ได้ อีกทั้งยังมีต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำกว่าระบบปกติหลายเท่า

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรและรับรองมาตรฐาน อย. ซึ่งเป็นผลการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่าง ดร.พิมพ์ขวัญ หาญนันทอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. (พัฒนาเครื่องมือการอ่านผล) นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (พัฒนาชุดน้ำยาตรวจ) และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (SERTIS) (พัฒนาแอปพลิเคชัน) โดยในอนาคตเตรียมพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถตรวจเชื้อไวรัสที่หลากหลายได้

เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์ ครั้งแรกของโลก

เทคโนโลยีใหม่อย่าง “เอไอตรวจโควิดกลายพันธุ์” ครั้งแรกของโลก ! ที่มาพร้อมความสามารถใน 2 ส่วน คือ บ่งชี้เชื้อโควิด-19 ได้ถึง 8 สายพันธุ์ และ ตรวจตำแหน่งการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการค้นหากลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOCs) ได้ถูกต้องถึง 99% ใน 30 วินาที ! โดยล่าสุดสามารถตรวจเจอโควิดสายพันธุ์ลูกผสม อินเดีย-อังกฤษ ได้แล้ว ซึ่งนับเป็นการช่วยแพทย์ลดขั้นตอนวิเคราะห์ให้เหลือเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น

ประกอบด้วย 1. นำเข้าข้อมูลสารพันธุกรรมทั้งหมด หรือจีโนมที่ได้ทั้งแบบเดี่ยว หรือแบบหลาย ๆ จีโนมพร้อมกัน เข้าโปรแกรม 2. วิเคราะห์สายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 3. ประมวลผลในรูปแบบชื่อของสายพันธุ์ และหากพบเชื้อกลายพันธุ์จะแสดงผลเป็นสีแดง พร้อมแสดงตำแหน่งกลายพันธุ์ (VOCs) บนจีโนม แต่หากไม่พบเชื้อจะเป็นสีเทา

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และยื่นจดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ก่อนจะขยายผลในการถ่ายทอดนวัตกรรมแก่หน่วยงานที่สนใจเป็นลำดับต่อไป

โดยผลการวิจัยชิ้นนี้ เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างนักวิจัย สจล. โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ. ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. ดร.วีรยุทธ กิตติชัย อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ สจล. ผศ. ดร.สันทัด ชูวงค์อินทร์ หัวหน้าศูนย์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ (CiRA) วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล., ดร. จักรพันธุ์ รุณเจริญ พร้อมด้วย ดร. อินทรี เสนสอน และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนางสาวทัชชา ยิ้มถิน อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Cloud Design วัดสัญญาณชีพ ครั้งแรกของไทย

อีกหนึ่งผลงานการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีเอไอในทางการแพทย์ เพื่อกู้วิกฤตโควิด-19 อย่างCloud Design วัดสัญญาณชีพ” ครั้งแรกของไทย ตรวจวัดสัญญาณชีพและติดตามอาการผู้ป่วยได้แบบใกล้ชิดโดย ไร้การสัมผัส (Touchless) ผ่านการสวมอุปกรณ์ปลอกแขน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสัญญาณชีพและแสดงผล 6 ค่าสำคัญของผู้ป่วย ประกอบด้วย คลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิ และค่าความดันโลหิต โดยที่ระบบเอไอ จะทำหน้าที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ (Real Time) ไปยังมอนิเตอร์ส่วนกลาง เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถวิเคราะห์ผล และแนวทางการรักษาได้ทันท่วงที ผ่านการสวมปลอกแขนให้ผู้ป่วยตั้งแต่ครั้งแรก

ทั้งนี้ เอไอดังกล่าว ได้นำร่องทดสอบประสิทธิภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ โรงพยาบาลสนาม อาคารนิมิบุตร โดยเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดย ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

เรียกได้ว่า อนาคตข้างหน้าวงการแพทย์ไทยจะก้าวได้ไกลและรุดหน้ายิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมด้าน Digital Healthcare โดยนักวิจัยไทย อันสะท้อนภาพได้ชัดเจนว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงทุนด้านสุขภาพ เพื่อลดการพึ่งพานวัตกรรมต่างชาติ เพิ่มโอกาส/ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบการรักษาทางการแพทย์ของคนไทย หรือกระทั่งสามารถส่งออกนวัตกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในอนาคตอีกด้วย เช่นเดียวกับหลักคิดในการสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” หรือ “KMCHภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ที่มุ่งสร้างโรงพยาบาลที่พร้อมขับเคลื่อนการแพทย์ และคุณภาพชีวิตคนไทย ผ่านการเป็นพื้นที่เพื่อการรักษาพยาบาล และศึกษาวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อรองรับวิกฤตสุขภาพในอนาคต ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างโรงพยาบาลดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 ในวงเงินก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท

ผู้สนใจร่วมสมทบทุนจัดสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ทั้ง กดบริจาคตามจิตศรัทธา เข้าบัญชีมูลนิธิฯ เลขที่บัญชี 693-0-32393-4 กดบริจาค 100 บาท เพียงกด *948*1960*100# และโทรออก ซื้อเสื้อให้เพื่อสร้าง ในราคาตัวละ 299 บาท ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมได้ที่ www.kmchf-pp.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL ไลน์ไอดี @KMITLHospital หรือโทร. 092-454-8160 และ 092-548-2640