ด้วยภาวะโลกร้อน ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก เกิดเป็นวิกฤตมลภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝุ่น PM2.5 ซึ่งแน่นอนว่า จะกลายเป็นวิกฤตสุขภาพตามมา

ฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนังเท่านั้น แต่ยังแพร่เข้าสู่กระแสเลือด เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และที่สำคัญยังเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และอาจจะทวีความรุนแรงต่อไปในอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ติดอันดับโลก

ด้วยเล็งเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาและทรัพยากรสำคัญของประเทศ คือพืชสมุนไพรและยาสมุนไพรที่ทรงคุณค่า ทางคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษและเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพสารสกัดสมุนไพรสู่มาตรฐานโลก จึงดำเนินการศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยศักยภาพสูง และนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างองค์กรสุขภาพชั้นนำของประเทศไทยครั้งประวัติศาสตร์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และพัฒนา ในโครงการ Herb for Health ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรไทย เพื่อช่วยชะลอ รักษา และบรรเทาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากฝุ่น PM2.5 โดยมีผู้ร่วมลงนาม ดังนี้

• ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
• ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ดร.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
• ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า “คณะเภสัช จุฬาฯ เป็นสถาบันที่มีความโดดเด่น เชี่ยวชาญ ในเรื่อง นวัตกรรม ประกอบกับบุคลากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์ในการศึกษา วิจัย พืชสมุนไพรนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ถือเป็นก้าวที่สำคัญของวงการแพทย์ และวงการสาธารณสุขของประเทศไทย ในนามของคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะให้การสนับสนุนการดำเนินงาน ศึกษา วิจัย พัฒนา แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และส่วนอื่นๆ รอบด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้”

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในฐานะตัวแทนของบุคลากรคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ ว่า “รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมลงนามความร่วมมือทางด้านวิจัยและวิชาการ กับทางคณะแพทย์ศิริราช ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมากด้านการศึกษาศูนย์วิจัยคลีนิก การนำจุดแข็งทั้ง สองสถาบันมารวมกัน จะสามารถพัฒนาวิชาการทางด้านการแพทย์ของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า เมื่อไหร่ที่สังคมมีปัญหา เภสัชจุฬามีคำตอบ และเราเชื่อมั่นว่านับต่อจากนี้ไป ศิริราชพยาบาลจะเป็นผู้ให้คำตอบร่วมกับเราด้วยค่ะ”

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ดร.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการวิจัยว่า “สำหรับภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนะคะ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการค้นพบและพัฒนายาซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้กับทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องของสมุนไพร เพราะฉะนั้นจากความเชี่ยวชาญของภาควิชาเราก็จะดูในเรื่องของการคัดเลือกสารออกฤทธิ์หรือว่าสารสำคัญ เมื่อค้นพบสารสำคัญได้แล้ว เรามีการศึกษาทั้งด้านกลไกการออกฤทธิ์หรือว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารจากสมุนไพรอย่างครบวงจรนะคะ ตั้งแต่ในห้องเพาะเลี้ยงเซลล์ระดับเซลล์และโมเลกุลและก็มีความร่วมมือกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ การที่จะพัฒนายาจากสารอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้กลไกการเกิดโรคเพื่อที่จะมั่นใจว่าสารนั้นๆ มีเป้าหมายการออกฤทธิ์อย่างเจาะจง

“ยกตัวอย่างเช่นมลพิษหรือว่ามลภาวะต่างๆ ส่งผลทำให้เกิดการทำลายสารชีวโมเลกุลไม่ว่าจะเป็นโปรตีน DNA ระดับเซลล์ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ DNA จึงสามารถเป็นสารก่อมะเร็งได้ เพราะฉะนั้นการค้นพบนี้ เราก็จะสามารถคัดเลือกสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ได้อย่างจำเพาะ

“แล้วหลังจากนั้นเมื่อผ่านการทดสอบในห้องเลี้ยงเซลล์ในสัตว์ทดลองให้เกิดความมั่นใจว่าสารที่เราค้นพบมีประสิทธิภาพจริง อาจารย์ทางศูนย์วิจัยคลินิกศิริราชก็จะศึกษาต่อในอาสาสมัครนะคะ เพื่อที่จะมั่นใจในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารนั้นๆ ก่อนที่จะไปสู่กระบวนการการขึ้นทะเบียนและนำไปให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคต่อไปค่ะ”

ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงการศึกษาวิจัยในโครงการนี้จะได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่าง อย่างเป็นระบบตามมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“เราให้ความรู้กับเกษตรกรในแหล่งเพาะปลูกถึงกระบวนการควบคุมปริมาณสารพิษต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้สมุนไพรที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และเราสามารถรับซื้อวัตถุดิบของเขาในราคาที่สูงขึ้นได้ด้วย

“คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการผลิตและควบคุมคุณภาพยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วัตถุดิบสมุนไพรทั้งหมดได้รับรองคุณภาพมาตรฐาน ISO เราจะมีการทดลองในอาสาสมัครมนุษย์เพื่อให้ดูประสิทธิภาพ ซึ่งทางศิริราชมีมาตรฐานสากลซึ่งเรามั่นใจ

“สำหรับในภาคธุรกิจเอกชน หากต้องการสร้างนวัตกรรมที่มีความปลอดภัยสูงหรือประสิทธิภาพสูง เราสามารถให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำกระบวนการพัฒนา รวมถึงการทดสอบมาตรฐานต่างๆ ให้ได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและความปลอดภัย”

ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัยในคน จะทำโดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำโดย ผศ.ดร.พญ.สุวิมล นิยมในธรรม และ รศ.ดร.สมฤดี ฉัตรสิริเจริญกุล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ยาที่มีความปลอดภัยสูงสุด ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการสุขภาพ ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคที่เป็นประชาชนจะได้รับประโยชน์ในวงกว้าง

สำหรับท่านใดที่สนใจข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และสมุนไพรเพื่อชีวิต จากโครงการ Herb for Health สามารถติดตามได้ที่ Facebook : CUfitt เพราะเราอยากเห็นคุณแข็งแรง และ Line: @thaithonburi