เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา บริษัทไทยแอร์โรนอติคอล เซ็นเตอร์ (Thai Aeronautical Center หรือ TAC) โดย พล.อ.ต.กมล ผิวดำ ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ และบริษัทอุตสาหกรรมการบินขนาดใหญ่ของประเทศมากว่า 30 ปี ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท เอวิเอชั่น เมนเทนแนนซ์ เอ็กซ์เพิร์ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (Aviation Maintenance Expert Enterprise หรือ AMEE) บริษัทน้องใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน โดย คุณภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการบริษัท
พล.อ.ต.กมล กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้เติบโตอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องของการฝึกบิน การขนส่ง และการซ่อมบำรุง ปัจจุบัน TAC มีโรงเรียนการบิน เปิดให้บริการด้านการฝึกบินภายใต้ชื่อ TAC Flying Academy เป็นสถาบันการบินเอกชนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และมุ่งเน้นผลิตนักบินพาณิชย์ ด้วยหลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์การบินระหว่างประเทศ (ICAO)
นอกจากนี้ TAC ยังได้สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ทำการซ่อมบำรุงอากาศยานของโรงเรียนในเบื้องต้น และให้บริการกับอากาศยานภายนอกควบคู่ไปพร้อมกัน โดยขั้นตอนการทำงานทั้ง 2 รูปแบบอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลมาตรฐานการดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อให้มีความปลอดภัยในมาตรการการเดินอากาศระดับสากล
พล.อ.ต.กมล กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ธุรกิจด้านการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เพราะมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจและการค้าทยอยฟื้นตัว การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 มีความคืบหน้าและใช้กันแพร่หลายมากขึ้น สายการบินเริ่มปรับตัวออกมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านการป้องกันโรคมากขึ้น เกิดการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น บริษัทผู้สร้างเครื่องบินขนาดใหญ่ประกาศว่ามีคำสั่งซื้อเครื่องบินในปี 2564-2569 มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก คาดว่าธุรกิจการบินจะค่อย ๆ ขยายตัวและภายในปี 2575 ในทุกๆ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง
นาวาอากาศโท ดร.พงศ์พันธ์ แก้วจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท AMEE กล่าวถึงจุดประสงค์การร่วมทุนในครั้งนี้ว่า เป็นการแสวงหาพันธมิตรในธุรกิจการบิน และกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน พันธมิตรทั้งสองฝ่ายต่างเติมเต็มจุดแข็งให้กันและกัน โดยการสนธิองค์ประกอบด้านต่าง ๆ อาทิ ความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ผลงาน และทรัพยากรทางธุรกิจ อันจะนำพา TAC และ AMEE ไปสู่จุดหมายในการเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจการบิน และกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ยั่งยืน และได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้รับการบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น มุ่งเน้นธุรกิจการให้บริการด้านกิจการการบิน โดยการขับเคลื่อนโรงเรียนการบิน และการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน ในส่วนของเครื่องบินเล็ก ทั้งในภาคเอกชน เครื่องบินส่วนตัว และเครื่องบินของภาครัฐ
ระยะกลาง ดำเนินธุรกิจด้านการขายเครื่องบินเล็กส่วนตัว รวมถึงการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างครบวงจร การให้บริการด้านการซื้อขายชิ้นส่วนอากาศยาน อะไหล่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนการบินโดยการเพิ่มหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการของตลาดนักบิน และขยายขีดความสามารถการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อรองรับการให้บริการที่ครบวงจร
และ ระยะยาว ดำเนินธุรกิจด้านการขายเครื่องบินเล็กส่วนตัว รวมถึงการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างครบวงจรในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน การให้บริการด้านการซื้อขายชิ้นส่วนอากาศยาน ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนการบินโดยการขออนุญาตหลักสูตร ให้เป็นที่ยอมรับของกรมการบินพลเรือนของประเทศเพื่อนบ้าน และขยายขีดความสามารถการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อรองรับการให้บริการที่ครบวงจรในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้านให้บริการเครื่องบินเชิงพาณิชย์ รวมถึงการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ ขออนุญาตเปิดโรงเรียนช่างเทคนิคการซ่อมบำรุงอากาศยาน ในระดับวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อผลิตช่างวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการมากในอุตสาหกรรมการบิน
ด้านคุณภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการ บริษัท AMEE กล่าวว่า บริษัท AMEE แม้จะถือว่าเป็นน้องใหม่ของวงการอุตสาหกรรมการบิน มีอายุเพียง 3 ปี แต่บุคลากรของบริษัทเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมากไปด้วยประสบการณ์ในธุรกิจการบิน และการร่วมทุนกับ TAC ในครั้งนี้เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจการบินของไทยให้ก้าวสู่แถวหน้าภูมิภาคซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับบริษัท AMEE จึงได้มาขยายความร่วมมือด้านธุรกิจการบินในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม คุณภิญญ์ชยุตม์ มองว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะอยู่ในสภาวะวิกฤตินับแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นของโลก แต่ในท่ามกลางวิกฤตินี้ กิจกรรมการบินนับเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่เริ่มฟื้นตัว ดังจะเห็นได้จาก การขนส่งด้วยอากาศยาน ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานอากาศ (Air bridge) เชื่อมส่งความช่วยเหลือของประเทศต่างๆ เข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พล.อ.ต.กมล ผิวดำ ประธานกรรมการบริษัท TAC นั้น มีความเชี่ยวชาญในการดูแลการซ่อมเครื่องบินมาอย่างต่อเนื่อง เป็นวิศวกรควบคุมการรับชิ้นส่วนเครื่องบินแบบต่าง ๆ ของกองทัพอากาศเพื่อใช้ในการซ่อมเครื่องบินที่ชำรุด เป็นวิศวกรวางแผนและการควบคมการสร้างโครงการสร้างเครื่องบินฝึกของกองทัพอากาศ ทำการตรวจซ่อมเครื่องบินของหน่วยซ่อมบำรุงของกองทัพอากาศ ตามหน่วยบินและศูนย์ซ่อมทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะก่อตั้ง บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด และยังเป็นผู้ออกแบบระบบคอมพิวเตอร์สำหรับงานบริการกิจการซ่อมเครื่องบิน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด จากนั้นได้มาก่อตั้งบริษัท TAC โดยสร้างโรงเรียนการบิน และสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน
Recent Comments