เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ หอประชุม โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ หัวหน้าโครงการ “จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” พร้อมด้วยคุณประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับประธานในพิธี โดยมี คุณพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานในพิธี

คุณพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

คุณประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณวิจิตา รชตะนันทิกุล คณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมตามสัญญาให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2566 ร่วมงานครั้งนี้ด้วย ในปัจจุบันมีสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กพิการทางการเห็นอย่างจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลรูปแบบที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กพิการทางการเห็น การสอนผ่านละครเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้ปกครองและครูผู้สอน สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้กับทุกวิชา

คุณวิจิตา รชตะนันทิกุล

การสร้างละครเพื่อเด็กพิการทางการเห็นในการโครงการ “จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” จะมีการออกแบบเพื่อให้เด็กพิการทางการเห็นได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องศิลปะละครเวทีผ่านการรับชมจากสัมผัสอื่นๆแทนการมองเห็นทางภาพ เช่น การรับรู้ทางเสียง สัมผัส รสชาติ กลิ่น เป็นต้น นอกเหนือจากการสร้างประสบการณ์ทางด้านละครเวทีที่เน้นรูปแบบการใช้ประสาทสัมผัสแล้ว ประเด็นในการออกแบบการสร้างละครยังได้มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่และประสบการณ์ให้เด็กพิการทางการเห็นได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวมากขึ้นอีกด้วย

เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเด็กพิการทางการเห็นจะมีโอกาสในการเคลื่อนไหวน้อยและไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอกับการเล่นหรือการออกกำลังกาย เด็กพิการทางการเห็นไม่สามารถเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นได้ เพราะเด็กพิการทางการเห็นเล่นไม่สามารถเล่นอย่างลำพังหรือรู้สึกปลอดภัยมากพอ ดังนั้นการขาดพื้นที่หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายจึงส่งผลให้เด็กพิการทางการเห็นไม่มีโอกาสได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ (Kinesthetic Development) หรือการเรียนรู้การฝึกใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวจะส่งผลถึงบุคลิกภาพการนั่งหรือการเดินอีกด้วย

ผู้จัดทําโครงการจึงออกแบบสื่อสร้างสรรค์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สื่อการแสดงสดในรูปแบบละครเวทีที่เน้นการมีประสบการณ์ร่วม (Immersive Theatre) และ (2) สื่อละครเสียงและคลิปวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อเป็นเครื่องมือให้ครูและผู้ปกครองสามารถนำไปพัฒนาเด็กพิการทางการมองเห็นได้ด้วยตัวเอง โดยในด้านของการออกแบบการแสดงละครที่เน้นให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม เนื่องจากเด็กพิการทางการมองเห็นมีความจําเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ร่วมเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและการตีความสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น

ผู้กำกับละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เด็กพิการทางการเห็นมีส่วนร่วมในการแสดง สามารถจินตนาการไปกับการสมมุติบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการเรียนรู้ทักษะชีวิต ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น และมีการสรุปองค์ความรู้เป็นคลิปสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบวิดีโอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครู ผู้ดูแล และผู้ปกครองสามารถนําไปประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการและทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางการเห็นที่บ้านหรือที่โรงเรียนได้เอง โดยใช้สื่อละครสร้างสรรค์ในการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กิจกรรมโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กๆมีประสบการณ์ร่วมกับการแสดง โดยการออกแบบละครจะเน้นให้ ผู้ชม (เด็กพิการทางการเห็น) ได้ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวร่วมไปกับสวมบทบาทเป็นตัวละครหลักของเรื่องเนื้อเรื่อง การมีปฏิสัมพันธ์โดยใช้ทักษะการสมมุตบทบาทเป็นตัวละครลูกเป็ดและผจญภัยไปกับฉากต่างๆ ในการแสดง ซึ่งนอกเหนือจากการส่งเสริมจินตนาการและความสนุกสนานในกับสื่อสร้างสรรค์ที่ออกแบบเพื่อเด็กพิการทางการเห็นแล้ว เด็กๆจะได้ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวอย่างอิสระเช่นเดียวกับการเล่นในสนามเด็กเล่น เพียงแต่กระบวนการออกแบบละครจะช่วยแนะนำและเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กพิการทางการเห็นได้มีโอกาสพัฒนาการเคลื่อนไหวมากขึ้น