บ๊อช ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก เผยผลประกอบการประจำปี 2565 มียอดขายเติบโตอยู่ที่ 397 ล้านยูโร (ราว 14,600 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 จากปีก่อนหน้า การที่ผลประกอบการประจำปีของประเทศไทย เติบโตขึ้นสูงถึง 2 หลัก โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในตลาด การลงทุนของบริษัทที่เติบโตขึ้นร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 32.2 ล้านยูโร (ราว 1,200 ล้านบาท) รวมถึงการมีส่วนร่วมของพนักงานราว 1,500 คนในไทย ทั้งนี้บ๊อชยังถือโอกาสครบรอบ 100 ปีในประเทศไทย จัดกิจกรรมพิเศษต่อยอดแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่อนาคต

นายโจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทได้วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนหลังวิกฤติโควิด-19 เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะส่งสัญญาณดีขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลักดันการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก”

สำหรับผลประกอบการในประเทศไทยในปี 2565 ที่มีผลงานโดดเด่นนั้น เป็นผลจากการที่บ๊อช เริ่มทำการผลิตระบบ ABS สำหรับจักรยานยนต์ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นฐานการผลิตระบบ ABS ของจักรยานยนต์แห่งที่สามในโลกของบ๊อชในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2565 เพื่อตอบรับความต้องการระบบความปลอดภัยที่มากขึ้นในตลาดอาเซียน “การขยายไปสู่การผลิต ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของบ๊อชในฐานะผู้นำตลาดโมบิลิตี้ในประเทศไทย โดยบ๊อชได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญในการผลิต ABS สำหรับรถสี่ล้อที่โรงงานแห่งเดียวกันตั้งแต่ปี 2557 มาใช้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมรถสองล้อของตลาดอาเซียน ทำให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น” นายฮงกล่าว

โซลูชันสำหรับยานพาหนะ ที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์สำหรับตลาดท้องถิ่น

นายฮง กล่าวว่า ผู้ขับขี่ในปัจจุบัน คาดหวังให้ยานพาหนะสามารถทำอะไรได้มากขึ้น ดังนั้นในอนาคตบทบาทของซอฟต์แวร์ในการผสานรถยนต์เข้ากับโลกดิจิทัลจะเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ เปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าจากที่ใช้ฮาร์ดแวร์เป็นขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ รวมคุณสมบัติการเชื่อมต่อ ระบบอัตโนมัติ และการปรับแต่งคุณสมบัติให้เป็นส่วนตัว จะมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขับขี่ บ๊อชได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการบริการ เพื่อนำเสนอโซลูชันการขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้การเดินทางปลอดภัยขึ้น น่าตื่นเต้นขึ้น และยั่งยืนมากขึ้นสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน

สำหรับรถยนต์ที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ ระบบควบคุมไดนามิกส์ของรถยนต์ 2.0 ของบ๊อช นำเสนอแนวคิดการควบคุมอัจฉริยะ ทำให้แอคทูเอเตอร์ เช่น เบรก พวงมาลัย ระบบส่งกำลัง และระบบช่วงล่างสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงการคาดคะเนพฤติกรรมของรถยนต์ และการแทรกแซงในเชิงรุก ช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และมอบประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา นอกจากนี้ยังมีโซลูชันบนระบบคลาวด์ของบริษัท – แบตเตอรี่ในระบบคลาวด์ เป็นโซลูชันเชื่อมต่ออัจฉริยะที่ออกแบบมาเพื่อจัดการแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าให้ดีขึ้น โดยแบตเตอรี่ในระบบคลาวด์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแบตเตอรี่ อายุการใช้งาน และความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย

ประโยชน์จากโซลูชัน AioT เพื่อยกระดับการเฝ้าระวัง

กลุ่มผลิตภัณฑ์ของบ๊อช ประกอบด้วยกล้องวิดีโอรักษาความปลอดภัยที่ built-in AI กล้องตรวจจับเปลวไฟและควันไฟ (AVIOTEC) ระบบจัดการการเข้าออก (AMS) ระบบประกาศสาธารณะและระบบแจ้งเตือนอพยพฉุกเฉินด้วยเสียงแบบ IP (PREASSENSA) โดยโซลูชันเหล่านี้สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยในการให้ข้อมูลเชื่อมถึงกัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบความปลอดภัยมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น และเป็นการยกระดับความปลอดภัยของชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น

ในปีพ.ศ.2565 บ๊อชได้ร่วมมือกับหลาย ๆ เมือง ในการติดตั้งกล้องวิดีโอรักษาความปลอดภัยหลายพันตัวในหลายพื้นที่ทั้งใน จ.กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และระยอง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่เมือง ด้วยคุณภาพของภาพที่มีความคมชัดทั้งกลางวันและกลางคืน การวิเคราะห์วิดีโออัจฉริยะในการตรวจนับยานพาหนะ การตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ ซึ่งเป็นการช่วยการบริหารการจัดการจราจร ช่วยสืบสวนอาชญากรรม อุบัติเหตุ และการละเมิดกฎจราจรได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ต่อยอดเทคโนโลยี สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

บ๊อชยังตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีไฮดรอลิกในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ในประเทศไทย โดยชุดขับเคลื่อนและควบคุมของบ๊อช ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีการประกอบชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนและโอเชียเนีย และมีบทบาทสำคัญในการวางสายการประกอบชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

“ในปี 2565 บริษัทได้ส่งมอบหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดโรงงานอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพ และรับประกันความปลอดภัยในระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากร ด้วยเทคโนโลยีไฮดรอลิก เช่น การจัดหาเครื่องสูบน้ำแบบจุ่มเคลื่อนที่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ สำหรับโครงการน้ำท่วมและการชลประทานในประเทศไทย โดยเครื่องสูบน้ำเหล่านี้ล้วนออกแบบให้ง่ายต่อการติดตั้ง และการใช้งานในพื้นที่จำกัด เช่น พื้นที่ข้างคลองในเขตเมืองหรือชนบทที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม หรือการชลประทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยในปี 2566 บริษัทยังมีแผนที่จะขยายโซลูชันนี้ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยและ สปป.ลาว อีกด้วย

อีคอมเมิร์ซ ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจโดยตรงถึงลูกค้า

ในปีพ.ศ. 2565 อีคอมเมิร์ซมีส่วนสำคัญในการผลักดันยอดขายเครื่องมือไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และอะไหล่รถยนต์ของบริษัทให้เติบโตอย่างน่าประทับใจ สำหรับเครื่องมือไฟฟ้าของบ๊อชมีรายรับที่ดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ไร้สาย 18V ซึ่งได้แรงหนุนจากแคมเปญ PROMIX ออนไลน์ มอบแบตเตอรี่ 18V ให้กับผู้ใช้ฟรี และแอป BeConnected ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และยังมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ใช้ เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าบ๊อชได้รับแรงหนุนจากแคมเปญ “Like a Bosch” และการขยายช่องทางการขายที่ครอบคลุมถึงออนไลน์ การรวมคุณสมบัติ HomeConnect ช่วยให้สามารถควบคุมสมาร์ทโฟน ส่วนแผนกอะไหล่รถยนต์ ก็เติบโตขึ้นจากความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ บวกกับการเพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น และครอบคลุมตลาดที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทย

เฉลิมฉลอง 100 ปี บ๊อชในประเทศไทย

บ๊อชเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการมีส่วนร่วมเพื่อความก้าวหน้าของประเทศและความมุ่งมั่นของบริษัทสู่ความยั่งยืน บ๊อชเตรียมจัดงานวิ่งการกุศลที่เปิดโอกาสให้นักวิ่งสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บ๊อช ประเทศไทย ยังเดินหน้าสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั่วทั้งภูมิภาค โดยในปีพ.ศ. 2565 บริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทยเกือบ 10 แห่ง ขยายโครงการฝึกงานจากนักศึกษาจาก 173 คน เป็น 250 คน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานในแผนกต่าง ๆ ทั้งที่กรุงเทพฯ และระยอง ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการทำงานที่หลากหลาย และสภาพแวดล้อมของบริษัทข้ามชาติ เพื่อพัฒนาทักษะและมีส่วนร่วมในองค์กร โดยในปีพ.ศ. 2566 บริษัทวางแผนขยายโปรแกรมรับนักศึกษาเพิ่มเป็น 350 คน พร้อมส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาชีพ ด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีมาร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ IoT การใช้งาน I4.0 ตลอดจนเทคโนโลยีและโซลูชันขั้นสูง

แนวโน้มปี 2023 กลยุทธ์การเติบโต

ดร.สเตฟาน ฮาร์ตุง ประธานคณะกรรมการบริหารของ Robert Bosch GmbH กล่าวว่า ผลประกอบการที่โดดเด่นในปี พ.ศ. 2565 ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า กลุ่มบ๊อช สามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจในปีที่ท้าทาย โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นรวมเป็น 88,200 ล้านยูโร อัตรากำไร EBIT จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 4.3 แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2566 บ๊อชยังสามารถเพิ่มยอดขายได้ร้อยละ 3.5 โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายตลอดทั้งปีพ.ศ. 2566 จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6–9 อัตรากำไร EBIT อยู่ที่ระดับร้อยละ 5 โดยเป้าหมายของกลุ่มบ๊อช คือ การเติบโตในทุกภูมิภาค และเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ชั้นนำสามรายในตลาดที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกลยุทธ์จากนี้ กลุ่มบ๊อช จะมุ่งตอบสนองต่อแนวโน้มไปสู่วิศวกรรมยานยนต์ที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยการปรับแนวธุรกิจการจัดหายานยนต์ใหม่ ในอนาคต ธุรกิจยานยนต์จะได้รับการจัดการในฐานะภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อธุรกิจของตนเองและทีมผู้นำของตนเอง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ภายใต้การปรับโครงสร้างใหม่ ธุรกิจยานยนต์จะถูกกำหนดให้เติบโตทุกปี เฉลี่ยร้อยละ 6 จนถึงปีพ.ศ.2572 ซึ่งคาดว่าจะมียอดขายต่อปีมากกว่า 80,000 ล้านยูโร ในด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กลุ่มบ๊อชยังมีเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษต้นน้ำและปลายน้ำเพิ่มขึ้น อันจะนำพาให้บริษัทบรรลุเป้าหมายสู่ความยั่งยืนไปอีกขั้น